วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

วิชามลายูศึกษากับนักสังคมวิทยา

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

วิชามลายูศึกษานั้นมีความสัมพันธ์กับวิชาสังคมวิทยา ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับนักสังคมวิทยาที่บางครั้งเราอาจมองข้าม บุคคลแรก นักวิชาการถือว่าเป็นบิดาแห่งวิชาสังคมวิทยาคือ ท่านวะลียุดดีน อับดุรเราะหฺมาน อิบนุ มุหัมมัด อิบนุ มุหัมมัด อิบนุ คอลดูน หรือ ท่านอิบนุคอลดูน นักการศาสนานามอุโฆษของโลกมุสลิม สำหรับท่านที่สองนั้นคือ ดร.อาลี ชารีอาตี นักสังคมวิทยาชาวอิหร่านที่ได้รับการยอมรับในด้านวิชาการสังคมวิทยา ส่วนท่านที่สามคือ ศาสตราจารย์ ดร. โกนจารานิงรัต เป็นนักมานุษยวิทยาว่าด้วยชาติพันธุ์มลายู ท่านเป็นชาวอินโดเนเซียที่ถือได้ว่าเป็นบิดาแห่งวิชามานุษยวิทยาของอินโดเนเซีย

ชีวประวัติอิบนุคอลดูน (1332-1406)

วะลียุดดีน อับดุรเราะหฺมาน อิบนุ มุหัมมัด อิบนุ มุหัมมัด อิบนุ คอลดูน หรือรู้จักกันสั้นๆ ในนามของอิบนุคอลดูน เป็นนักฟิกฮฺ รัฐบุรุษ นักสังคมวิทยา และนักประวัติศาสตร์อันโด่งดังแห่งโลกมุสลิม ท่านเกิดในวันที่ 1 รอมฎอน ฮ.ศ. 732 (5 พฤษภาคม ค.ศ. 1332) บรรพบุรุษของท่านเป็นชาวเยเมนที่อพยพมาตั้งรกรากอยู่ที่เซวิลล์ (Seville) ประเทศสเปน และรับราชการอยู่ที่นั่น ครอบครัวของท่านก็ได้อพยพไปยังเมืองตูนิส (ปัจจุบันอยู่ในประเทศตูนีเซีย) ก่อนที่มุสลิมสเปนจะสูญเสียเซวิลล์ให้แก่ชาวคริสเตียนเพียงไม่กี่ปี
อิบนุคอลดูนเกิดที่เมืองตูนิส และได้รับการศึกษาที่นั่น ท่านได้รับการศึกษาในวิชาอัลกุรอาน อัลหะดีษ นิติศาสตร์ ภาษาอาหรับ ไวยากรณ์ และกวีนิพนธ์จากนักวิชาการที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยนั้น ต่อจากนั้นท่านก็ได้ศึกษารหัสยวิทยา (mysticism) และปรัชญาจากนักวิชาการชาวสเปน อิบนุคอลดูนได้รับราชการในตำแหน่งต่าง ๆ หลายตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประทับตราสารขององค์สุลต่าน เลขาธิการของรัฐ นักการทูต ตลอดจนผู้พิพากษา
ในปี ค.ศ. 1352 ขณะที่มีอายุ 20 ปี อิบนุคอลดูนเข้ารับราชการในราชวงศ์หัฟศิด แต่ในปี ค.ศ. 1354 ท่านก็จากบ้านเกิดของท่านเดินทางไปยังเมืองเฟซ (Fez) เพื่อรับใช้สุลต่าน อบูอินาน และเพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ที่เมืองเฟซ ท่านได้ศึกษากับนักวิชาการที่มีชื่อเสียงหลายคน การรับราชการของท่านกับสุลต่านอบูอินานก็ไม่ยาวนานเท่าที่ควร ในปี 1357 ท่านถูกจำคุก แต่ในปี 1358 เมื่อ อบูอินานเสียชีวิต ท่านจึงได้รับการปล่อยตัว อัลหะสัน อิบนุ อุมัรซึ่งเป็นวิเซียร์ขององค์สุลต่านก็คืนตำแหน่งให้ท่าน ท่านจึงมีโอกาสรับใช้สุลต่านอบูสาเล็มซึ่งเป็นรัชทายาทของสุลต่านอบูอินานต่อไป
ในปี ค.ศ. 1362 อิบนุคอลดูนอพยพไปยังแกรนาดา ท่านได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากสุลต่านมุหัมมัดที่ 5 อีกสองปีต่อมาท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตไปเจรจาสันติภาพกับเพโดร (Pedro) แห่งคาสทิลล์ (Castille) ท่านจึงมีโอกาสเยือนเซวิลล์ซึ่งเป็นเมืองบรรพบุรุษของท่าน เพโดรเสนอที่จะคืนทรัพย์เดิมของบรรพบุรุษให้แก่อิบนุคอลดูน และเสนอให้ท่านรับราชการอยู่กับพระองค์ แต่อิบนุคอลดูนปฏิเสธ
เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองที่วุ่นวาย ประกอบกับความเบื่อหน่ายต่อชีวิตการเมืองที่ขึ้น ๆ ลง ๆ อิบนุคอลดูนจึงมุ่งหน้าไปสู่หมู่บ้านกอลลาต อิบนุสะละมะฮฺเพื่อทุ่มเทเวลาให้กับการผลิตผลงานทางวิชาการ ณ สถานที่แห่งนี้เองที่ท่านใช้เวลาถึงสี่ปีในการแต่งหนังสืออัลอิบาร ซึ่งเขียนเสร็จในปี 1372 บทนำของหนังสือเล่มนี้หรือ อัลมุก็อดดิมะฮฺ (al-Muqaddimah) ซึ่งต่อมาได้รับการตีพิมพ์เป็นเอกเทศจากกีตาบอัลอิบาร เป็นตำราที่ทำให้ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในโลกมุสลิมและโลกตะวันตก
ในอัลมุกอดดิมะฮฺ อิบนุคอลดูน กล่าวว่าท่านได้ก่อตั้งศาสตร์แขนงใหม่นั่นก็คือศาสตร์ว่าด้วยอารยธรรม (Ilm al-Umran) ขึ้น ในหนังสือเล่มดังกล่าวนี้ อิบนุ คอลดูนได้พูดถึงแนวคิดของท่านเกี่ยวกับการรวมกลุ่มของมนุษย์ สังคมในระดับต่าง ๆ ตลอดจนการเกิดและการล่มสลายของจักรวรรดิ นักวิชาการส่วนหนึ่งถือว่าอิบนุคอลดูนเป็นบิดาแห่งวิชาสังคมวิทยา (Sociology) ทั้งนี้เพราะท่านเป็นนักวิชาการคนแรกที่พยายามก่อตั้งกฎทางสังคมขึ้น


ดร. อาลี ชารีอาตี (Dr. Ali Shariati) (1933–1977)

เป็นนักสังคมวิทยาชาวอิหร่าน งานเขียนส่วนใหญ่จะเป็นด้านสังคมวิทยาศาสนา เกิดในปี 1933 ที่เมืองมาซีนาน (Mazinan) ซึ่งเป็นส่วนย่อยของเมืองซาบเซวาร์ (Sabzevar) ประเทศอิหร่าน บิดาของเขาเป็นนักชาตินิยมก้าวหน้าและเป็นนักการศาสนา ซึ่งมีผลทำให้การเข้าร่วมในขบวนการทางการเมืองของ ดร. อาลี ชารีอาตีในเวลาต่อมา
ในสมัยที่เรียนอยู่ที่วิทยาลัยครู เขาได้คบค้าสมาคมกับเยาวชนที่มาจากชนชั้นด้อยทางเศรษฐกิจ เขาเองมีความรู้เกี่ยวกับวิชาสังคมวิทยาสมัยใหม่และปรัชญา โดยเขาได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของ Moulana Rumi และ Muhammad Iqbal.
เขาได้รับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยมาชฮัด (University of Mashhad) ต่อมาศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นที่มหาวิทยาลัยปารีส (University of Paris) โดยเขาได้รับปริญญาเอกด้านสังคมวิทยา ในปี 1964. ต่อมาในปี 1965 เขาได้เข้าเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมาชฮัด (University of Mashhad) เขาได้รับการยอมรับจากผู้คนในด้านความรู้วิชาการของเขา จนเขาถูกจับโดยพระเจ้าชาห์ เมื่อเขาถูกปล่อยตัว เขาได้เดินทางไปยังกรุงเตหะราน โดยเข้าสอนที่สถาบันการศึกษาที่มีชื่อว่าสถาบันฮุสเซ็นนียา เอร์ชาด การสอนของเขายิ่งเพิ่มจำนวนผู้เข้าฟังมากขึ้น จนทางพระเจ้าชาห์ทำการจับกุมเขาและนักศึกษาจำนวนหนึ่ง เขาถูกจำคุกเป็นเวลา 18 เดือน ต่อมาได้รับการปล่อยตัว เมื่อ 20 มีนาคม 1975 โดยมีเงื่อนไขห้ามมีการสอน การพิมพ์งานเขียน หรือเข้าไปเกี่ยวข้องใดๆกับกิจกรรมทางการเมือง ทางหน่วยราชการลับของพระเจ้าชาห์ที่ชื่อว่า SAVAK จะติดตามการเคลื่อนไหวของเขาทุกย่างก้าว
เขาปฏิเสธเงื่อนไขดังกล่าวโดยเดินทางออกนอกประเทศ ไปยังประเทศอังกฤษ สามสัปดาห์ต่อมาเขาสิ้นชีวิต โดยมีการประกาศว่าเป็นโรคหัวใจวาย แต่เป็นที่รับรู้ว่าการตายของเขาเกี่ยวข้องกับหน่วยราชการลับของพระเจ้าชาห์ที่ชื่อว่า SAVAK สุสานของเขาตั้งอยู่บริเวณสุสานของนางไซนับ บินตีอาลี (Zainab bint Ali) ในกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย
สำหรับงานเขียนของเขาที่สำคัญมีดังนี้ Hajj (The Pilgrimage), Where Shall We Begin?, Mission of a Free Thinker, The Free Man and Freedom of the Man, Extraction and Refinement of Cultural Resources, Martyrdom (book), Arise and Bear Witness, Ali, Declaration of Iranian's Livelihood, Islamology งานเขียนของเขามีจำนวนมาก ส่วนหนึ่งได้รับการแปลเป็นภาษามลายูและภาษาไทย สำหรับหนังสือที่แปลเป็นภาษาไทย ส่วนหนึ่งมีอยู่ในหอสมุด จอห์น เอฟ. เคเนดี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

บุคคลที่เกี่ยวข้องกับวิชามลายูศึกษา
มีบุคคลจำนวนมากทั้งที่เป็นคนมลายู จากอินโดเนเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิชามลายูศึกษา ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง การปกครอง ประวัติศาสตร์ ปรัชญา สังคมวิทยามลายู มานุษยวิทยามลายู ซึ่งขอกล่าวเฉพาะบางคนดังต่อไปนี้

ศาสตราจารย์ ดร. โกนจารานิงรัต (Prof. Dr. Koentjaraningrat)
15 มิถุนาย1923 – 23 มีนาคม 1999

เขาเป็นบุตรชายโทนของครอบครัวเชื้อสายเจ้าของยอกยาการ์ตา บิดาชื่อว่าระเด่น มัส เอมาวัน โบรโตโกโซโม (RM Emawan Brotokoesoemo) ความรู้ความสามารถของเขาเกี่ยวกับชาติพันธุ์ต่างๆในภูมิภาคมลายู ทำให้เขาได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งวิชามานุษยวิทยาอินโดเนเซีย”
เขาได้รับการศึกษาเบื้องต้นด้านวรรณกรรมจากมหาวิทยาลัยอินโดเนเซียในปี 1952 แต่เขามีความสนใจด้านวัฒนธรรม จนสามารถจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ในปี 1958 และจบปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยอินโดเนเซีย เขาได้แต่งตำราเป็นจำนวนหลายเล่ม จนกลายเป็นตำราอ้างอิงของบรรดานักศึกษา นักวิชาการต่อมา เช่น ความรู้มานุษยวิทยา (Pengantar Antropologi), ความหลากหลายของสังคมอีเรียนตะวันตก (Keseragaman Aneka Warna Masyarakat Irian Barat,1970), มนุษย์และวัฒนธรรมในอินโดเนเซีย(Manusia dan Kebudayaan di Indonesia 1971), ชาวสวนผลไม้ในจาการ์ตาใต้ (Petani Buah-buahan di Selatan Jakarta 1973), สังคมชนบทในอินโดเนเซีย(Masyarakat Desa di Indonesia 1984) และ วัฒนธรรมชวา (Kebudayaan Jawa 1984)
เขาเป็นอาจารย์ด้านมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยอินโดเนเซีย (Universitas Indonesia) ต่อมาเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยกายะห์มาดา(Universitas Gadjah Mada) และเป็นอาจารย์ด้านกฎหมายทหาร (Akademi Hukum Militer)ที่สถาบันการศึกษาตำรวจ (Perguruan Tinggi Ilmu Kepolisian)
นอกจากนั้นเขาเคยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Utrecht ประเทศฮอลันดา, มหาวิทยาลัย Columbia, มหาวิทยาลัย Illinois,มหาวิทยาลัย Wisconsin, มหาวิทยาลัย Ohio, มหาวิทยาลัยมาลายา, สถาบัน Ecole des Hautes, Etudes en Sciences Sociales ในกรุงปารีส และสถาบัน Center for South East dan Asian Studies ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เขาได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์(doctor honoris causa) จากมหาวิทยาลัย Utrecht ในปี 1976 และได้รับรางวัล Fukuoka Asian Cultural Price ในปี 1995

ไม่มีความคิดเห็น: