วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

มลายู และโลกมลายู

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

คำว่า “มลายู” ในความหมายที่ทางองค์การ UNESCO ซึ่งได้ทำการศึกษาวิจัยในหัวข้อ Malay Cultural Studies Project ได้ให้คำอธิบายถึงความหมายของมลายูว่า คือ กลุ่มชนที่รวมกันอยู่ในกลุ่มมลายู-โปลีเนเซีย (Melayu-Polinesia) ซึ่งมีอาณาเขตที่กว้างขวาง จากเกาะมาดากัสการ์ทางตะวันตก จนถึงเกาะอิสเตอร์หรือที่ชาวมลายูเรียกว่าเกาะปัสกะห์ (Pulau Paskah) ทางตะวันออก รวมทั้งเกาะใต้หวัน และ ฮาวาย ทางด้านเหนือ จนถึงหมู่เกาะอินโดเนเซีย และ นิวซีแลนด์ทางใต้

ศาสตราจารย์วัง กง วู (Prof. Wang Gung Wu) ได้ทำการศึกษาค้นคว้าในบันทึกจีนโบราณ ปรากฏว่าในศตวรรษที่ 13 ยังไม่มีการบันทึกถึงคำว่า “มลายู” ในฐานะชนชาติหนึ่ง มีเพียงการบันทึก “มลายู” ในฐานะเป็นรัฐหรือสถานที่แห่งหนึ่งในทางตะวันออกของเกาะสุมาตรา จะมีเพียงในศตวรรษที่ 18 ที่กล่าวถึง “มลายู” ในฐานะชนชาติหนึ่ง ส่วนบันทึกของตะวันตกนั้นกล่าวว่า ตอนต้นศตวรรษที่ 17 คำว่า “มลายู” มีการใช้ในความหมายที่กว้าง ครอบคลุมถึงชนชาติที่อยู่ในภูมิภาคมลายู (Nusantara) ชนชาวมลายูได้ทิ้งร่องรอยทางอารยธรรมไว้มาก อาณาจักรโบราณของชนชาวมลายู เช่น อาณาจักร ฟูนัน ซึ่ง Daniel George E. Hall ได้กล่าวว่า “ชาวฟูนันเป็นชนชาติมลายู ”(The Funanese were Malay Race) และ Prof. Nguyen The Anth ชาวเวียดนามก็ได้กล่าวว่า “อาณาจักรฟูนันใช้ภาษามลายู” นอกจากนั้นยังมีอาณาจักรจามปาในเวียดนาม อาณาจักรลังกาสุกะ อาณาจักรมาชาปาหิต อาณาจักรศรีวิชัย รวมทั้งอาณาจักรมะละกา


ชนชาวมลายูนั้นถือว่าเป็นชนชาติใหญ่ชนชาติหนึ่งในโลก ทางองค์กรที่ที่ชื่อว่า Joshua Project ซึ่งเป็นองค์กรเผยแพร่ศาสนาคริสต์ของสหรัฐตั้งอยู่ในรัฐ โคโลราโด ของสหรัฐอเมริกา ได้สำรวจและปรากฎผลได้ดังนี้ :

โลกอาหรับ 279,654,470 คน
อินโด-อิหร่านเนียน 137,509,326 คน
ยิว 17,593,084 คน
ชนชาวมลายู 339,134,635 คน
ชาวตุรกี 169,026,980 คน


จากข้อมูลข้างต้นที่มีชนชาติมลายูถึง 339,134,635 คน ปรากฏว่าชนชาวมลายูเหล่านั้น กระจัดกระจายไปทั่วโลก นอกจากพวกเขาจะตั้งถิ่นฐานอยู่ในกลุ่มประเทศภูมิภาคมลายู หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า นูซันตารา (Nusantara) ซึ่งมีประเทศอินโดเนเซีย, มาเลเซีย, บรูไน, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, ภาคใต้ของไทยแล้ว ชาวมลายูยังอาศัยอยู่ในประเทศพม่า, เวียดนาม, เขมร และลาว นอกจากนั้นชาวมลายูยังอพยพไปยังภูมิภาคต่างๆ เช่นไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศอัฟริกาใต้, มาดากัสการ์, สุรีนาม, ตะวันออกกลาง, ยุโรป และสหรัฐ


ประเทศฟิลิปปินส์
คนฟิลิปปินส์ที่พูดภาษาตากาลอกนั้น ล้วนมาจากชนชาติมลายู การอพยพของชาวมลายูจากแหลมมลายู-อินโดนีเซียไปยังดินแดนฟิลิปปินส์นั้นเริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่4 ก่อนหน้านั้นมีการอพยพของชาวเนกรีโต(Negrito) และชาวบอร์เนียว, ชาวสุลาเวซี, ไต้หวันไปยังดินแดนนั้น พวกเขาเหล่านั้นถูกรวมอยู่ในกลุ่มชนพื้นเมืองฟิลิปปินส์(Orang Asli Filipina) การอพยพของชาวสุลาเวซีหรือชวาไปยังฟิลิปปินส์ หรือจากสุมาตราไปยังแหลมมลายูถือเป็นการอพยพของชนชาวมลายูที่อยู่ในวัฒนธรรมเดียวกัน พวกเขาไม่ถูกเรียกว่าผู้อพยพ เพราะพวกเขาล้วนมีวัฒนธรรมที่เหมือนกัน การห่างเหินของชาวมลายูฟิลิปปินส์จากชนชาติมลายูส่วนใหญ่ เกิดจากความสำเร็จของเจ้าอาณานิคมในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ไปยังดินแดนเหล่านั้น โดยเฉพาะเกาะลูซอน พวกเขาได้ยอมรับวัฒนธรรมยุโรป-อเมริกา และละทิ้งวัฒนะธรรมดั้งเดิมของพวกเขา ส่วนพวกที่อยู่ทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์นั้น พวกเขาประสบความสำเร็จในการต่อต้านอาณานิคม และศาสนาคริสต์ ทำให้พวกเขายังคงอัตลักษณ์ของความเป็นมุสลิมไว้ได้. ชาวมลายูที่นับถือศาสนาอิสลามหรือที่เรียกว่าโมโร ( Moro) นั้นมีประชากรประมาณ 4.9 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด ของประเทศฟิลิปปินส์ 78 ล้านคน การยอมรับในความเป็นมลายู หรือ มาลายันของคนฟิลิปปินส์ยังคงมีอยู่ บางพรรคการเมืองในฟิลิปปินส์ยังคงใช้คำว่า มลายู เช่น พรรคที่ชื่อว่า The Malay Democrat Party of The Philippines


ประเทศศรีลังกา
ในศรีลังกานั้น ชาวมลายูยังคงยึดถืออัตลักษณ์ของชาวมลายูอยู่ แม้ว่าภาษามลายูของพวกเขาจะได้รับอิทธิพลของภาษาทมิฬ และสิงหล ประชากรของศรีลังกาที่มีเชื้อชาติมลายูนั้น มีอยู่ประมาณ 62,000 คน ชาวมลายูในศรีลังกามีประวัติภูมิหลังที่น่าสนใจจริง พวกเขาถูกฮอลันดานำไปยังศรีลังกาในศตวรรษที่ 18 และบางส่วนถูกอังกฤษนำไปยังศรีลังกาในศตวรรษที่ 19 ซึ่งก่อนหน้านั้นชาวมลายูก็ได้อพยพไปยังศรีลังกาแล้ว ในหนังสือชื่อ “ มหาวังศา” ( Mahawangsa) ซึ่งเป็นหนังสือประวัติศาตร์เก่าแก่ของศรีลังกาก็มีการบันทึกว่า ในสมัยกษัตริย์ที่ชื่อ Prakrama Bahu ในปี1268 มีกษัตริย์ชาวมลายูชื่อกษัตริย์จันทราภาณุ (Chandrabhanu) จากอาณาจักรตามพรลิงค์ ( Tambralinga ) ได้ไปโจมตีศรีลังกาเป็นจำนวน 2 ครั้ง แม้แต่แม่ทัพของกษัตริย์ Prakrama Bahu เองก็เป็นชาวมลายูมีชื่อว่า Melayu Rayer แต่ชาวมลายูเหล่านี้ถูกสังคมศรีลังกากลมกลืน จนสิ้นอัตลักษณ์ ด้วยพวกเขานับถือศาสนาเฉกเช่นเดียวกันกับชาวศรีลังกา
ปัจจุบันมีสมาคมชาวมลายูศรีลังกาทั้งในประเทศศรีลังกาและนอกประเทศอยู่หลายสมาคม เช่น Sri Lanka Australian Malay Association, Sri Lanka Malay Association of Toronto Canada, Sri Lanka-Indonesia Freindship Association, Ruhuna Malay Association, Conference of Sri Lanka Malays (COSLAM), Ceylon Malay Research Organisation (CEMRO), All-Ceylon Malay Association



ประเทศอัฟริกาใต้

ประเทศอัฟริกาใต้มีชาวมุสลิมประมาณ 700,000 คน และในจำนวนดังกล่าวเป็นชาวมุสลิมที่มีเชื้อสายมลายูอยู่ประมาณ 240,000 คน ส่วนใหญ่ชาวมลายูเหล่านี้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองเคปทาวน์( Cape Town ) ในบริเวณที่เรียกว่า Malay Square หรือ Bokap ชาวมลายูในประเทศอัฟริกาใต้จะถูกเรียกว่าชาวมลายูแหลม หรือ Care Malay พวกเขาส่วนใหญ่ถูกฮอลันดานำพาไปยังอัฟริกาใต้ แม้ว่าภาษามลายูของพวกเขาเหล่านี้เกือบจะสูญหายไป แต่พวกเขายังคงใช้บางคำของภาษามลายูในชีวิตประจำวัน พวกเขาจะพูดภาษาอัฟริกัน ( Afrikaan ) ในชีวิตประจำวัน โดยภาษาอัฟริกันนี้มีภาษาฮอลันดาเป็นหลัก และนำคำภาษาอักฤษ และภาษามลายูเข้าไปใช้ในภาษาอัฟริกัน
ปัจจุบันมีสมาคมชาวมลายูอัฟริกาใต้ หรือที่เรียกว่ามลายูแหลม (The Cape Malay) อยู่หลายสมาคม เช่น Forum For Malay Culture In South Africa, Indonesian and Malaysian Seamen’s Club, The South Africa Malay Cultural Society, The Cape Malay Chamber of Commerce, The Cape Malay Chorace Band.



ประเทศซาอุดิอารเบีย
ชาวมลายูจากประเทศมาเลเซีย , อินโดนีเซีย, บรูไน และปัตตานี เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ทุกๆปี และปรากฏว่ามีชาวมลายูจำนวนหนึ่งจากภูมิภาคมลายูเข้าไปตั้งถิ่นฐานในประเทศซาอุดิอารเบีย ชุมชนชาวมลายูในประเทศซาอุดีอารเบีย มักมีชื่อต่อท้ายตามถิ่นกำเนิดของตนหรือ บรรพบุรุษ เช่น Al – Palembani, Al- Indrakiri กิจการธุรกิจบางกิจการ หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือข้าราชการของประเทศซาอุดิอารเบีย บางคนมาจากบรรพบุรุษชาวปัตตานี เช่น อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในสมัยกษัตริย์ไฟศอล มีชื่อว่า Sheikh Abdullah Al-Patani ปัจจุบันชุมชนชาวมลายูที่มีแหล่งกำเนิดจาอินโดนีเซีย, มาเลเซีย , และปัตตานี ยังคงมีบทบาทอยู่ในสังคมประเทศซาอุดิอารเบีย


เกาะโคโคส ( Cocos Island )
เดิมเกาะนี้เป็นเกาะกรรมสิทธิ์ของตระกูล Clunies Ross ต่อมาเมื่อชาวมลายูเกาะโคโคส ถูให้เลือกอนาคตของตนเองว่า เกาะโคโคสของพวเขาจะเป็นดินแดนอิสระ หรือว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของประเทศออสเตรเลีย เมื่อชาวเกาะโคโคส เป็นส่วนหนึ่งของออสเตรเลียแล้ว บางส่วนของพวกเขาจึงอพยพไปตั้งถิ่นฐานบนแผ่นดินใหญ่ของออสเตรเลีย ปัจจุบันมีชาวมลายูทั้งที่เป็นชาวเกาะโคโคส และชาวมลายูที่อพยพมาจากประเทศมาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย ประมาณ 37,000 คน ชาวมลายูเหล่านี้จำนวนหนึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองดาร์วิน (Darwin), เมืองเมเบิร์น (Melburne) และ เมืองเพิร์ธ (Perth)

ประเทศมาดากัสการ์
ประเทศมาดากัสการ์ ซึ่งอยู่ในทวีปอัฟริกา เป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ประเทศนี้ก็เป็นอีหนึ่งประเทศที่มีชาวมลายูจากภูมิภาคมลาย (Nusantara ) อพยบไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศดังกล่าว การอพยบของชาวมลายูไปยังเกาะมาดากัสการ์เกิดขึ้นเมื่อนับพันปีมาแล้ว ชนชาวมาดากัสการ์ที่มีเชื้อสายมลายู ประกอบด้วยนับสิบชนเผ่า แต่ชนเผ่าเมรินา (Merina) หรือที่พวกเขาเรียกตนเองสั้นๆว่า ชาวเมอร์ (Mer) นั้น นับว่ามีความใกล้ชิดทางชาติพันธุ์กับชาวมลายูในภูมิภาคมลายูมาก จากการศึกษาวิจัยทางภาษาศาสตร์ ปรากฎว่าชนชาวเมรินามีความสัมพันธ์ทางภาษากับชนเผ่ามายัน (Mayaan) ในเกาะกาลีมันตันของอินโดนีเซีย ชาวเมรินามีประชาการ 2.8 ล้านคน จากจำนวนประชากรของมาดากัสการ์ 16.9 ล้านคน ชาวเมรินาถือเป็นชาวมลายูโพ้นทะเลกลุ่มเดียวที่สามารถเป็นชนชั้นปกครองของประเทศที่ได้อพยบไปตั้งถิ่นฐาน ในประเทศมาดากัสการ์มีสมาคมที่ดำเนินกิจกรรมประสานงานกับชาวมลายูในภูมิภาคมลายูอยู่สมามคมหนึ่ง ชื่อว่า สมาคมมลายูแห่งมาดากัสการ์ (Fikambanana Malay Madagasikara) Mboara Andriannarimanana ภายใต้การนำของนาย โดยสมาคมนี้มีสถานีวิทยุและหนังสือพิมพ์ของตนเอง และเคยมีเว็บไซต์ของตนเองภายใต้ชื่อ Suara Bangsa Merina


ประเทศเมียนมาร์
ประเทศเมียนมาร์หรือพม่า เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีชุมชนชาวมลายูอาศัยอยู่ ชาวมลายูในประเทศเมียนมาร์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ชุมชนชาวมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม กลุ่มนี้ชาวเมียนมาร์เรียกว่าชาว Salon มีประชากรทั้งหมด 31,600 คน ชุมชนชาวมลายูในประเทศเมียนมาร์มีความสัมพันธ์กับชาวมลายูในภาคใต้ของไทย และชาวมลายูในรัฐเคดะห์ของมาเลเซีย ส่วนหนึ่งของชุมชนชาวมลายูในประเทศเมียนมาร์ได้อพยบไปตั้งถิ่นฐานในเขต Sri bandi รัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย อีกกลุ่มหนึ่งคือชาวเล (Orang Laut) ที่เรียกตนเองว่ามอแกน ชาวมอแกนมีประชากรประมาณ 7,000 คน ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศเมียนมาร์

ประเทศสุรีนาม
ประเทศสุรีนาม ซึ่งตั้งอยู่ในทวีปละตินอเมริกา ถือเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีชาวมลายูอาศัยอยู่ ส่วนใหญ่ของชาวมลายูในประเทศสุรีนามจะมีเชื้อสายเผ่าชวา กลุ่มชนเหล่านี้ฮอลันดาได้นำมาจากอินโดนีเซีย ด้วยประเทศสุรีนามเคยเป็นอาณานิคมของฮอลันดา ชาวมลายูในประเทศสุรีนามมีประมาณ 75,000 คน ชาวมลายูในประเทศสุรีนามส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายชวา และในประเทศสุรีนามมีพรรคการเมืองของคนมลายูอยู่ 2 พรรค และประธานรัฐสภาของประเทศสุรีนามคนปัจจุบันก็เป็นคนมลายู คือ นาย Paul Slamet Somohardjo


กลุ่มประเทศอินโดจีน
ซึ่งประกอบด้วยประเทศเวียดนาม, เขมร และลาว นั้น ในดินแดนดังกล่าวในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรของชาวมลายู-จาม ที่มีชื่อว่าอาณาจักร จามปา (Champa Kingdom) อาณาจักรจามปาได้ทิ้งมรดกทางอารยธรรมของชาวมลายู-จาม ในอดีตมากมาย ชาวจามนั้นนายจิตร ภูมิศักดิ์ ได้กล่าวไว้ว่า “จามเป็นชนชาติตระกูลชวา-มลายู ที่ตกค้างอยู่บนพื้นทวีป” สำหรับประชากรชนชาวมลายู-จามในกลุ่มประเทศอินโดจีนมีดังต่อไปนี้
ชนชาวมลายู-จามในประเทศเวียดนาม
ชาวจามตะวันตก 122,900 คน
ชาวจามตะวันออก 80,000 คน
ชาวบาห์นาร์จาม 33,000 คน

ชนชาวมลายู-จามในประเทศเขมร
ชาวจามตะวันตก 220,000 คน

ชนชาวมลายู-จามในประเทศลาว
ชาวจาม 14,000 คน


แนวคิดของการรวมชนชาติมลายูเข้าเป็นหนึ่งเดียว
Melayu Raya เป็นแนวคิดของการรวมชนชาติมลายูเขาเป็นหนึ่งเดียว นั้นคือชนชาวมลายูที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย, อินโดเนเซีย, บรูไน และสิงคโปร์ เข้าเป็นประเทศเดียวกันบางครั้งคำว่า Melayu Raya จะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Indonesia Raya แนวคิดนี้มีการเสนอขึ้นในประเทศอินโดเนเซียโดยกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีซูการ์โน และพรรคการเมืองในมาเลเซีย เช่น พรรคมลายูแห่งชาติมาลายา ซึ่งเป็นพรรคการเมืองก่อนการกำเนิดของพรรคอัมโน (UMNO) ที่มีผู้นำหลายคนเช่น Ibrahim Yaakub, Dr. Burhanuddin Al-Helmi, Ahmad Boestamam, Ishak Haji Muhammad และอื่นๆ

MAPHILINDO
Maphilindo เป็นคำย่อมาจาก Malaya, the Philippines, และ Indonesia เป็นองค์กรสมาพันธรัฐมลายูของกลุ่มชนชาติมลายู แรกเริ่มเป็นแนวความคิดของนาย Wenesclao Vinzons เพื่อรวมชนชาติมลายูเข้าด้วยกัน เมื่อนาย Diosdado Macapagal เป็นประธานาธิบดีของประเทศฟิลิปปินส์ ต่อมาในปี 1963 เขาต้องการสร้างความคิดอุดมคติของนายโฮเซ รีซาลให้เป็นจริง จึงเสนอจัดตั้ง Maphilindo แต่ปรากฏว่าต่อมาไม่สามารถรวมตัวกันได้ แม้ว่าจะมีการเซ็นสัญญากันแล้วก็ตาม เพราะมีการจัดตั้งประเทศมาเลเซียขึ้นก่อน จนเกิดความขัดแย้งระหว่างมาเลเซียที่ตั้งใหม่กับประเทศอินโดเนเซีย

บุคคลที่มีแนวคิดการรวมชนชาติมลายู
โฮเซ รีซาล José Protacio Rizal Mercado y Alonzo Realonda
19 มิถุนายน 1861-30 ธันวาคม1896

เขาเป็นวีรบุรุษแห่งชาติของประเทศฟิลิปปินส์ เป็นนายแพทย์ นักแกะสลักศิลปะ นักวี นักเขียนบทละคร นักเขียนนวนิยาย เขาสามารถพูดได้หลายภาษา เช่น ภาษาตากาล๊อก ภาษามลายู ภาษาจีน ภาษาเสปน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาโปร์ตุเกส ฯลฯ เขาเป็นบุตรคนที่เจ็ดของครอบครัวนาย Francisco Mercado และนาง Teodora Alonzo โดยครอบครัวของเขาเป็นครอบครัวผสมเชื้อจีนกับชนพื้นเมือง( Cina-Mestizo ) ที่ร่ำรวยใน Calamba จังหวัดLaguna นามสกุลเดิมของเขาคือ Mercado ต่อมาเขาเปลี่ยนเป็น Rizal ตามคำแนะนำของพี่ชายที่ชื่อว่า Paciano Mercado เพราะไม่ต้องการให้การต่อสู้ของ Jose Rizal กระทบกับครอบครัว Mercado ของเขา
เขาจบปริญญาตรีสาขาการรางวัดที่ดิน ในปี 1877 จาก Ateneo Municipal de Manila ปัจจุบันคือ University of Ateneo de Manila ในขณะเดียวกันก็เรียนสาขาวรรณกรรมและปรัชญาที่ University of Santo Tomas เขาตัดสินใจเปลี่ยนไปเรียนแพทย์ศาสต์ด้านจักษุแพทย์ เมื่อเห็นว่ามารดาของเขามีปัญหาเกี่ยวกับสายตา แต่เขาเรียนไม่จบ เพราะเขาเห็นว่าคณะบาทหลวงโดมินิกันที่บริหารมหาวิทยาลัย มีการกดขี่นักศึกษาชาวพื้นเมืองฟิลิปปินส์ ดังนั้นเขาจึงเดินทางไปศึกษาการแพทย์ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน แม้จะได้รับการต่อต้านจากบิดาของเขา เขาจบการศึกษาสาขาแพทย์ศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยที่ชื่อว่า Universidad Central de Madrid
งานเขียนที่มีชื่อเสียงของเขาเป็นนวนิยาย 2 เล่ม คือ Noli Me Tangere (1887) และ El Filibusterismo (1891) เป็นนวนิยายที่ต่อต้านเจ้าอาณานิคมสเปน สร้างจิตสำนึกความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวในหมู่ชาวพื้นเมืองฟิลิปปินส์ เมื่อเขาเดินทางกลับมายังฟิลิปปินส์ในปี 1892 เขาถูกกล่าวหาว่าต่อต้านผู้ปกครองสเปน และถูกเนรเทศไปยังเมือง Dapitan ในเกาะ Mindanao
เขาถูกกล่าวหาว่ากบฏอีกครั้งเมื่อขบวนการต่อต้านสเปนที่ชื่อว่า Katipunan เริ่มทำการต่อสู้กับสปนเขาถูกสเปนประหารชีวิตในสถานที่ที่มีชื่อว่า Bagumbayan เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 1896 ปัจจุบันสถานที่ดังกล่าวเป็นบริเวณอนุสาวรีย์ที่มีชื่อว่า Rizal Park ในกรุงมะนิลา บทกวีก่อนที่เขาจะถูกประหารจนเสียชีวิตมีชื่อว่า Mi Último Adiós หรือ คำลาครั้งสุดท้ายของข้า นายโฮเซ รีซาล ได้รับการขนานนามจากชาวฟิลิปปินส์ว่าเป็น The Great Malayan หรือ ชาวมลายูผู้ยิ่งใหญ่ เขาไม่เพียงได้รับการยอมรับจากนักวิชาการในประเทศฟิลิปปินส์เท่านั้น แต่รวมทั้งนักวิชาการจากภูมิภาคมลายูอีกด้วย ในสารานุกรมประวัติศาสตร์วัฒนธรรมมลายู ที่ผลิตโดย Dewan Bahasa dan Pustaka ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับกรมของรัฐบาลมาเลเซียก็ได้บรรจุชื่อของนายโฮเซ รีซาลในสารานุกรมดังกล่าวด้วย

ศาสตราจารย์ มูฮัมหมัด ยามีน Prof. Muhammad Yamin, SH
24 สิงหาคม 1903-17 ตุลาคม 1962

เขาเกิดที่เมืองซาวะห์ลุนโต จังหวัดสุมาตราตะวันตก ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักต่อสู้แห่งชาติ(Pahlawan nasional Indonesia) ของประเทศอินโดเนเซีย เขาเป็นนักกวี เป็นนักคิด เป็นผู้จุดประกายทางความคิดต่ออดีตประธานาธิบดีซูการ์โน(Presiden Sukarno) เขาเริ่มเป็นนักเขียนในช่วงทศวรรษทื่ 1920 งานเขียนแรกของเขาเขียนด้วยภาษามลายูลงในวารสาร Jong Sumatera ซึ่งเป็นวารสารภาษาฮอลันดา ในช่วงต้นๆของงานเขียนของเขาจะได้รับอิทธิพลของภาษามลายูคลาสิค
มูฮัมหมัดยามีน เป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี 1922 ในฐานะนักกวี โดยบทกวีของเขาที่ชื่อว่า มาตุภูมิ (Tanah Air ) ซึ่งความหมายของมาตุภูมิของเขาคือ สุมาตรา งานเขียนที่สองคือรวมบทกวีชื่อ Tumpah Darahku ออกสู่สาธารณะเมื่อ 28 ตุลาคม1928 ซึ่งขณะนั้นเขาและบรรดานักต่อสู้ได้พร้อมใจกันยอมรับการมี หนึ่งมาตุภูมิ หนึ่งชาติ และหนึ่งภาษาอินโดเนเซีย (satu tanah air, satu bangsa, dan satu bahasa Indonesia) เขามีงานเขียนจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบของบทความ ละคร นวนิยายเชิงประวัติศาสตร์ และบทกวี
การเข้าร่วมทางการเมืองของเขานั้น โดยในปี 1932 เขาจบปริญญาด้านนิติศาสตร์จากกรุงจาการ์ตา ต่อมาเขาทำงานด้านกฎหมายระหว่างประเทศจนถึงปี 1942 เขาได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองโดยในปี1928 มีการประชุม Kongres Pemuda II ได้กำหนดให้ภาษาอินโดเนเซีย ซึ่งมีรากมาจากภาษามลายูเป็นภาษาทางการของขบวนการชาตินิยม เขาได้ดำเนินการผ่านองค์กรที่ชื่อว่า Indonesia Muda เรียกร้องให้ภาษาอินโดเนเซียเป็นภาษาแห่งชาติ
ในช่วงการยึดครองของญี่ปุ่นปี 1942-1945 เขาได้ทำงานกับองค์กรที่ชื่อว่า Pusat Tenaga Rakyat (PUTERA) เป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่น ในปี 1945 เขาเสนอให้จัดตั้งองค์กรที่ชื่อ Badan Penyelidik Usaha Persiapan Kemerdekaan Indonesia (BPUPKI) เพื่อเตรียมการประกาศเอกราช โดยประเทศที่จะจัดตั้งใหม่นี้นอกจากอินโดเนเซียแล้ว ยังประกอบด้วยซาราวัค, ซาบะห์, แหลมมลายู, ตีมอร์โปร์ตุเกส รวมทั้งดินแดนทั้งหมดที่อยู่ภายใต้การปกครองของฮอลันดา ซูการ์โนเป็นสมาชิกของ BPUPKI ด้วย ดังนั้นซูการ์โนจึงสนับสนุนแนวคิดของมูฮัมหมัด ยามีน เมื่อซูการ์โนเป็นประธานาธิบดีคนแรกของอินโดเนเซียในปี 1945 ประธานาธิบดีซูการ์โนจึงแต่งตั้งมูฮัมหมัด ยามีนให้มีตำแหน่งที่สำคัญในคณะรัฐมนตรีของเขา เมื่อเขาเสียชีวิต เขาถูกฝังที่ สุสานในตำบลตาลาวี ห่างจากตัวอำเภอซาวะห์ลุนโตประมาณ 20 กิโลเมตร
นายเวนเซสลาว คิว. วินซันส์ WENCESLAO Q. VINZONS (1910-1942)

นายเวนเซสลาว คิว. วินซันส์
เขาเกิดเมื่อ 28 กันยายน 1910 ที่เมือง Indan จังหวัด Camarines Norte เป็นบุตรของนาย Gabino V. Vinzons และนาง Engracia Quinito หลังจากเขาจบการศึกษาในระดับมัธยมในบ้านเกิดของเขา เขาได้เข้าศึกษาจนจบปริญญาตรีด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ (the University of the Philippines) เขาได้รับเหรียญรางวัลทองคำประธานาธิบดีมานูเอล แอล. เคซอน (the Manuel L. Quezon gold medal) จากหนังสือที่เขาเขียนในหัวเรื่อง “Malaysia Irredenta” จากชื่อหนังสือเล่มนี้ ทำให้ถือได้ว่าเขาคือผู้ประดิษฐ์คำว่า “มาเลเซีย” เขายังเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยที่ชื่อว่า Philippine Collegian นอกจากนั้นเขายังเป็นนายกองค์การนักศึกษา (President of the Student Council)อีกด้วย ในปี 1932 เขาเป็นผู้นำองค์กรที่ชื่อว่า The Youth Movement ต่อต้านการขึ้นเงินเดือนของสมาชิกสภาเทศบาลกรุงมะนิลา ในปี 1933 เขาชนะเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ (Constitutional Convention) โดยการจัดตั้งพรรคที่ชื่อว่า The Young Philippines Party ในปี 1940 เขาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด Camarines Norte ในปี เขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (Congressman) เมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดครองฟิลิปปินส์ เขาทำการต่อสู้กับญี่ปุ่น จนถูกจับและถูกประหารชีวิตเมื่อ 8 กรกฎาคม 1942

นายอาหมัด โบสตามาม Ahmad Boestamam
30 พฤศจิกายน 1920 - 19 มกราคม 1983

เขามีชื่อเดิมว่า Abdullah Sani Bin Raja Kechil) เป็นนักการเมืองนับตั้งแต่มาเลเซียก่อนได้รับเอกราช ด้านงานเขียนนั้นเขามีผลงานเขียนนวนิยายจำนวนกว่า 15 เล่ม มีเล่มหนึ่งชื่อว่า Sorotan Sekilas พิมพ์ในปี 1981 เขาเป็นบุคคลหนึ่งที่มีความคิดแนวทางรวมชนชาติมลายูเป็นหนึ่งเดียว ในพรรคมลายูแห่งมาลายานั้น เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารของพรรค

นายอิสฮัก ฮัจญีฒฮัมหมัด Ishak Haji Muhammad
14 พฤศจิกายน 1909 - 7 พฤศจิกายน 1991

นายอิสฮัก ฮัจญีฒฮัมหมัด จะรู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า Pak Sako เขาเกิดเมื่อปี 1909 ที่หมู่บ้านชื่อว่า Kampung Bukit Seguntang อำเภอ Temerloh รัฐ Pahang ได้รับการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนมลายูชื่อ Sekolah Melayu Kg. Tengah, Temerloh ในปี 1919 ต่อมาเขาเรียนต่อที่ โรงเรียนอังกฤษชื่อว่า Sekolah Inggeris Clifford, Kuala Lipis ในปี 1924 จนถึง 1928 เขาจบประกาศนียบัตรการศึกษาจากโรงเรียนอังกฤษในอำเภอRaub รัฐปาหัง เมื่อปี 1929 ต่อมาเขาศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นที่วิทยาลัยมลายูกัวลากังซาร์ (Maktab Melayu Kuala Kangsar) หรือ MCKK เพื่อทำหน้าที่เป็นข้าราชการของมาลายา(Malayan Civil Service). ในปี 1930 โดยเคยเขาทำงานเป็นผู้ช่วยปลัดอำเภอ, ผู้พิพากษาชั้น 2 และอาจารย์สอนภาษา ก่อนที่เข้าสู่วงการเขียนหนังสือ ในปี 1934 เขาลาออกจากราชการ เขาเคยถูกจำคุก 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกในปี 1948 -1953ครั้งที่สองในปี 1965-1966 เขาเป็นนักเขียนที่เขียนหนังสือตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930 จนถึง1950 เคยทำงานกับหนังสือพิมพ์ Utusan Melayu ภายใต้การนำของ Abdul Rahim Kajai เขาเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น บทความ บันทึกความจำ เฉพาะที่เก็บไว้ในหอสมุดแห่งชาติมาเลเซียมีมากกว่า 1,000 ชิ้น ผลงานที่มีชื่อเสียงของเขาคือ Putera Gunung Tahan และ Anak Mat Lela Gila เขาได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ด้านวรรณกรรมจากมหาวิทยาลัยมาลายาเมื่อ 29 มิถุนายน 1973 ต่อมาเมื่อ เขาได้รับรางวัล Pejuang Sastera จากนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เขาเสียชีวิตเมื่อ ที่ 7 พฤศจิกายน November 1991 รัฐ Selangor.

ดร. บูรฮาบุดดิน อัล-เฮลมี Dr. Burhanuddin Al-Helmi

เขาเป็นนักการเมืองที่ค่อนข้างเข้ากับทุกกลุ่มได้ เขาเคยเป็นผู้นำของกลุ่มการเมืองที่ต่อสู้เพื่อรวมมาเลเซียเข้ากับอินโดเนเซีย การต่อสู้ทางการเมืองภายหลังของเขาคือการเป็นประธานพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย ซึ่งเมื่อตนกูอับดุลราห์มาน เสนอให้มีการจัดตั้งประเทศมาเลเซีย โดยการรวมมาลายา, สิงคโปร์, รัฐซาบะห์ และรัฐซาราวัคนั้น ทางดร.บูรฮาบุดดิน อัล-เฮลมี ในฐานะประธานพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย ได้เสนอหลักการ โดยให้ประเทศที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่นี้นอกจากดินแดนข้างต้นแล้ว ยังประกอบด้วยสาธารณรัฐอินโดเนเซีย และ ฟิลิปปินส์อีกด้วย แต่ข้อเสนอของเขาต่อสภาผู้แทนราษฎรปรากฎว่าได้รับการปฏิเสธจากสภาดังกล่าว

อิบราฮิม ยะอากู๊บ Ibrahim Yaakub
เขาเป็นนักการเมืองที่นักวิชาการบางคน หรือแม้แต่ในหนังสือประวัติการต่อสู้พรรคอัมโนรัฐโยโฮร์ ก็กล่าวว่าเขาน่าจะเป็นบุคคลแรกที่เสนอแนวทางการต่อสู้เพื่อเอกราชของมาลายา เขาเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมมลายูหนุ่ม หรือ Kesatuan Melayu Muda (KMM) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 1939 เขาเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่อยู่ในแหลมมลายู ที่สนับสนุนแนวคิดการจัดตั้งประเทศ Melayu Raya หรือ Indonesia Raya ตามแผนการภายใต้การสนับสนุนของญี่ปุ่นนั้นอินโดเนเซียและมาลายาจะประกาศเอกราชพร้อมกัน และรวมเป็นประเทศเดียวกัน โดยมีนายซูการ์โนเป็นประธานาธิบดี และนายอิบราฮิม ยะอากู๊บ ที่อยู่ในมาลายา เป็นรองประธานาธิบดี แต่ปรากฏว่าญี่ปุ่นแพ้สงครามก่อน ดังนั้นอินโดเนเซียจึงประกาศเอกราช โดยปราศจากมาลายา ต่อมานายอิบราฮิม ยะอากู๊บหนีภัยไปอาศัยและเสียชีวิตในอินโดเนเซีย
แนวคิดการรวมชนชาติมลายู

นายโฮเซ รีซาล (Jose Rizal) เป็นชาวฟิลิปปินส์ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น “ชาวมลายูผู้ยิ่งใหญ่” (The greater Malayan) ด้วยเขาเป็นนักต่อสู้ที่ไม่เพียงเรียกร้องเอกราชจากเจ้าอาณานิคมเท่านั้น แต่เขาเรียกร้องให้ชนชาติมลายูรวมตัวกัน นายอาโปลีนารีโอ มาบีนี (Apolinario Mabini) เป็นนักต่อสู้อีกผู้หนึ่งที่เห็นด้วยกัยการรวมตัวกันของชนชาติมลายู การต่อสู้เรียกร้องของทั้งสองตนเป็นการต่อสู้ในช่วงปีทศวรรษที่ 1890

ในปี 1879 รัฐสภาของฮาวาย ที่เมืองโฮโนลูลู ได้มีการพิจารณาถึงการรวมตัวของโลกมลายู-โปลิเนเซีย และต่อมา 19 ปี ต่อมาคือปี 1898 นายอาโปลีนารีโอ มาบีนี ได้ประกาศ ณ กรุงมะนิลา ถึงแผนการ Federation Malaya ขึ้น โดยเป็นแผนการรวมตัวของโลกมลายู- โปลิเนเซีย

ต่อมาเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 1932 นายเวนเซสลาว คิว. วินซันส์ (Wenceslao Q. Vinzons) ได้บรรยายถึงความเป็นของเขาในเรื่องโลกมลายูโปลีเนเซีย เขาบรรยายที่มหาวิทยาลัฟิลิปปินส์ ตามหัวข้อหนังสือของเขาที่มีชื่อว่า “Malaysia Irredenta” เขาเรียกร้องให้มีการรวมตัวของชนชาติมลายูเข้าด้วยกัน ถือได้ว่าเขาเป็นผู้ประดิษฐ์คำว่า “Malaysia” ก่อนที่จะมีการนำชื่อนี้มาเป็นชื่อประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนั้นที่มีชื่อว่า The History and Civilization of Southeast Asian countries belonging to the Malay Race ได้รับการแปลเป็นภาษามลายูเผยแพร่ในอินโดเนเซีย แต่บทความดังกล่าวถูกฮอลันดาสั่งห้าม นายเวนเซสลาว คิว.วินซันส์ ได้รวบรวมนักศึกษาชาวมลายูที่เป็นชาวฟิลิปปินส์ ,มาเลเซีย,อินโดเนเซีย และภาคใต้ของไทย จัดตั้งเป็นองค์กรโดยใช้ชื่อว่า Perhempoenan Orang Melayoe (สมาคมคนมลายู ) ต่อมาเขาได้ออกจาก Perhempoenan Orang Melayoe โดยไปดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นโดยใช้ชื่อว่า The Young Philippines Party เมื่อ 7 มกราคม 1934 เขายังคงไว้ซึ่งอุดมการณ์ของการรวมตัวของชนชาติมลายู พรรคการเมืองนี้มีสมาชิกก่อตั้งที่มีบทบาทในภายหลังคนหนึ่งชื่อว่า นายดีออสดาโด มาคาปากัล (Diosdado Macapagal) ต่อมานายเวนเซสลาว คิว.วินซันส์ ได้รับเลื่อกตนมีตำแหน่งทางการเมืองแต่เมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดครองฟิลิปปินส์ เขาต่อต้านและปฏิเสธความร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่น จนถูกญี่ปุ่นจับตัวและประหารชีวิต อดีตวุฒิสมาชิกฟิลิปปินส์ที่ชื่อว่า นายอาหมัด อาโลนโต ซีเนียร์ (Ahmad Alonto Sr) ผู้เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานของ Perhenpoenan Orang Melayoe กล่าวว่าคำว่า “Malaysia” เคยถูกเสนอเป็นชื่อประเทศฟิลิปปินส์ก่อนที่จะมีประเทศมาเลเซียเช่นปัจจุบัน และภาษามลายูเคยถูกเสนอเป็นภาษาประจำชาติของฟิลิปปินส์ถึง 2 ครั้ง ซึ่งปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ที่รัฐสภาของฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน

ในปี 1932 เช่นกัน มูฮัมหมัด ยามิน (Muhammad Yamin ) แห่งอินโดเนเซียได้จุดประกายถึงแนวความคิดการรวมตัวของ Indonesia Raya หรือ Melayu Raya โดยการรามดินแดนต่าง ๆ เข้าด้วยกันเหมือนอย่างสมัย Gajah Mada เคยทำมาเมื่อ 500 ปีที่ผ่านมา ส่วนที่ประเทศมาเลเซียในปี 1932 นายอิบราฮิม ยะกู๊บ (Ibrahim Yaakob) ได้ต่อสู้ทางการเมืองเพื่อจัดตั้ง Gagasan Melayu Raya แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ


แนวความคิดของการรวมชนชาติมลายูเข้าด้วยกัน ยังคงมีอยู่ เมื่อนายดีออสดาโด มากาปากัล ได้เป็นประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ เขาผู้ได้รับอิทธิพลทางความคิดในเรื่องการรวมตัวของชนชาติมลายู จึงร่วมมื่อกับประธานาธิบดีซูการ์โนแห่งอินโดเนเซีย และตวนกูอับดุลราห์มาน ปุตรา นายกรัฐมนตรี ของมาลายา แผนจัดตั้ง “The Confederation of free Malay Republics ” โดยใช้ชื่อว่า MAPHILINDO ซึ่งเป็นชื่อย่อของ MALAYA- PHILIPPINES- INDONESIA. เขาได้ประกาศขึ้นที่กรุงมะนิลา เมื่อ 5 สิงหาคม 1963 โดยเขากล่าวว่า “บรรดาคนหนุ่มสาวฟิลิปปินส์ ภายใต้การนำของวีรบุรุษที่ชื่อว่า Wenceslao Q.Vingons ซึ่งข่าพเจ้ามีโอกาสเป็นสมาชิกก่อตั้งคนหนึ่งของพรรคคนหนุ่มสาวฟิลิปปินส์ ( The Young Philippines) ในปี 1934 และอุดมการณ์ครั้งนั้นได้รับการสืบทอดมาเป็น “MAPHILINDO” ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ประสบกับความล้มเหลว เมื่อมาลายาขณะนั้นได้รวมตัวกับรัฐซาบะห์, รัฐซาราวัค และสิวคโปร์จนกลายเป็นประเทศมาเลเซีย และเกิดความขัดแย้งกับอินโดเนเซีย

การรวมตัวของชนชาติมลายูได้ดำเนินการในรูปแบบใหม่ นั้นคือการจัดตั้ง ASEAN ในกลุ่มประเทศ ASEAN นั้นจะเห็นได้ว่าประชากรส่วนใหญ่ของ ASEAN เป็นชนชาวมลายู ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าทุกประเทศในกลุ่มประเทศ ASEAN ล้วนมีชนชาวมลายูอาศัยอยู่ในปัจจุบันการรามตัวของชนชาติมลายูจะเกิดขึ้นในลักษณะของ “โลกวัฒนธรรมมลายู” (Malay Cultural World ) องค์กรที่ดำเนินกิจกรรมด้นวัฒนธรรมมลายูมีอยู่ 2 องค์กร คือ สำนักเลขาธิการมลายูนานาชาติ (Sekretariat Melayu Antarabangsa ) ซึ่งมีสำนึกงานอยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้รับการสนันสนุนด้านงบประมาณจากรัฐสลางอร์ และอีกองค์กรหนึ่ง คือ สำนักเลขาธิการโลกมลายูโลกอิสลาม (Sekretariat Dunia Melayu Dunia Islam ) โดยองค์กรนี้ถือเป็นหน่วยงานหนึ่ง
ของรัฐบาลท้องถิ่นแห่งรัฐมะละกา

ไม่มีความคิดเห็น: