วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

การเรียนการสอนวิชามลายูศึกษาในต่างประเทศ

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
ตามที่ได้ทราบแล้วว่าวิชามลายูศึกษานั้นเป็นวิชาที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ วิชามลายูศึกษาแรกเริ่มนั้น เป็นการเรียนรู้ของชาติตะวันตกต่อชนชาวมลายู โดยใช้วิชามลายูศึกษาเพื่อเข้ามายึดครองภูมิภาคมลายู นอกจากมีการเรียนการสอนวิชามลายูศึกษาในมหาวิทยาลัยไลเด็นจนกระทั่งถึงปัจจุบัน วิชามลายูศึกษา ซึ่งมีการเรียนรู้เกี่ยวกับภาษามลายูอยู่ด้วย มีการขยายการเรียนการสอนไปทั่วโลก ซึ่งในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะที่สำคัญๆคือ

วิชามลายูศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา
มลายูศึกษาเริ่มขึ้นในสหรัฐในศตวรรษที่ 19 โดย Charles Scott ได้เขียนบทความเรื่อง The Malayan Words in English ในวารสารที่ชื่อ Journal of The American Oriental Society (1896-1897) โดย Charles Scott กล่าวว่ามีคำภาษามลายูไม่น้อยกว่า 150 คำที่ในภาษาอังกฤษ มีคำภาษามลายูในภาษาอังกฤษหลายคำที่ใช้อยู่ เช่น Rambutan (แรมบิวตัน) – ลูกเงาะ Rattan (รอตแตน) – หวาย Paddy (แฟดดี้) – ข้าวเปลือก
ชาวสหรัฐคนแรกที่เรียนภาษามลายูคือ นาย David Woodard ด้วยเขาถูกจับกุมที่เกาะสุลาเวซีในปี 1793 คำศัพท์ที่เขาจดบันทึกไว้ได้มีการพิมพ์ที่กรุงลอนดอนในปี 1805 ภายหลังปี 1945 ด้วยความช่วยเหลือของนาย Amat Haji Amir (เกิดที่มาเลเซีย), นาย Amat Awal และนาย Isidore Dyen ถือเป็นยุคใหม่ของการเรียนรู้เกี่ยวกับมลายูศึกษา มีการขยายการเรียนเกี่ยวกับมลายูศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆในสหรัฐ ซึ่งภาษามลายูเป็นส่วนหนึ่งของมลายูศึกษาด้วย โดยมลายูศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของสาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเหล่านั้นมีจำนวน 11 แห่ง เช่น

Arizona State University
University of Calfornia (Berkeley)
Cornell University University of Hawaii
University of Michigan **
University of Northern Illinois
Ohio University University of Oregon
University of Washingon
University of Wisconsin
University of Yale

** ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ แห่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน อดีตศาสตราจารย์วิชาประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็จบสาขาด้านตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (หรือจะเรียกว่าเป็นสาขาวิชาที่ว่าด้วยมลายูศึกษาก็คงไม่ผิด) จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน(University of Michigan) โดยท่านทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อินโดเนเซีย จนถึงปัจจุบันท่านเองก็ส่งเสริมในมีการเรียนรู้เกี่ยวกับมลายูศึกษา ท่านเคยเสนอให้วิชามลายูศึกษาในประเทศไทยมีการขยายยกฐานะเป็น “สถาบันมลายูศึกษา” เพื่อนำองค์ความรู้เกี่ยวกับมลายูศึกษามาแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นคนมลายู และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนของท่านก็มีการบรรยายเกี่ยวกับมลายูศึกษา โดยมีการเผยแพร่ทั้งในรูปแบบของหนังสือ, นิตยสาร, การบรรยายนอกสถานที่ รวมทั้งนำเข้าไปในเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (www.midnightuniv.org).

มลายูศึกษาในประเทศออสเตรเลียและนิซีแลนด์
มีการจัดตั้งศูนย์ภาษามลายูขึ้นในประเทศออสเตรเลีย โดยรัฐบาลออสเตรเลียได้กำหนดให้มหาวิทยาลัย 3 แห่งมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับมลายู/อินโดเนเซีย ในปี 1956 มหาวิทยาลัยดังกล่าวประกอบด้วย University of Sydney, University of Melbourne และ Canbera University College (ต่อมา Canbera University College ยกฐานะเป็น Australia National University) การเรียนการสอนเน้นภาษามลายูและวัฒนธรรมมลายู ต่อมาในปี 1964 Monash University และ University of Melbourne มีการจัดตั้งแผนกวิชามลายูศึกษา
สำหรับในประเทศนิวซีแลนด์ก็มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับมลายูศึกษา ในมหาวิทยาลัยเวลลิงตัน มีการตั้ง Malay Studies Chair เพื่อการเรียนการสอนในประเทศนิวซีแลนด์

มลายูศึกษาในประเทศเนเธอร์แลนด์
มหวิทยาลัยไลเด็น(Leiden University) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งขึ้นในปี 1575 เป็นแหล่งแรกที่กำเนิดของวิชามลายูศึกษา โดยเริ่มเกิดขึ้นในปี 1876 เน้นเกี่ยวกับภาษา วัฒนธรรม วรรณกรรมอินโดเนเซีย นอกจากนั้นยังมีการสอนเกี่ยวกับภาษาชวา ความรู้เกี่ยวกับชาติพันธุ์ในอินโดเนเซีย จนถึงปัจจุบันมหาวิทยาลัยเด็นแห่งนี้ก็ยังเปิดสอนระดับปริญญาโทด้านมลายูศึกษา แบ่งออกเป็นสาขาภาษาและวัฒนธรรมมลายู/อินโดเนเซีย ภาษาและวัฒนธรรมชวา นอกจากแผนกวิชาอินโดเนเซียศึกษาแล้ว ที่มหาวิทยาลัยไลเด็นยังมีอีกสถาบันที่เกี่ยวกับมลายู คือ Koninklik Koninklik Instituut voor Taal, Land, en Volkenkunde (Royal Institute of Linguistics and Anthropology) ซึ่งจัดตั้งในปี 1851 ถือเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับมลายูศึกษาที่ดีที่สุดในยุโรป

มลายูศึกษาในประเทศจีน
ในประเทศจีนนั้นได้มีการจัดตั้งศูนย์มลายูศึกษาขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1927 ที่มหาวิทยาลัยจีหนาน เมืองเซียงไห้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของภาควิชาวัฒนธรรมโพ้นทะเล ในช่วงสงครามญี่ปุ่นนั้นทาง The South Sea Society ได้ย้ายศูนย์การทำงานออกจากสิงคโปร์ไปยังประเทศจีนในปี 1942 ถือได้ว่า The South Sea Society มีบทบาทสำคัญต่อจีนในเรื่องเกี่ยวกับภูมิภาคมลายู ในปี 1949 แผนกวิชามลายูได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของคณะภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และเปลี่ยนชื่อเป็นแผนกวิชาภาษอินโดเนเซีย ซึ่งถือเป็นการเรียนเกี่ยวกับลายูศึกษาแรกที่เกิดขึ้น ภายหลังจากที่มีการจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเน้นการเรียนการสอนด้านภาษา วรรณกรรม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของอินโดเนเซีย/มลายู ในปี 1988 มหาวิทยาลัยปักกิ่งได้จัดตั้งสถาบันวิจัยขึ้นมาชื่อว่า สถาบันวิจัยวัฒนธรรมอินโดเนเซีย/มลายู จนถึงปัจจุบันในประเทศจีนมีสถาบันที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับมลายูศึกษาถึง 12 แห่ง ที่มีชื่อเสียงเช่น มหาวิทยาลัยปักกิ่ง, มหาวิทยาลัยเกียเหมิน, มหาวิทยาลัยจีหนาน, สถาบันวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยูหนาน, สถาบันวิจัยเอเชีย-แปซิฟิก ปักกิ่ง และอื่นๆ

มลายูศึกษาในประเทศอิตาลี
สำหรับประเทศอิตาลีนั้น ความรู้เกี่ยวกับมลายูศึกษาได้รับความสนใจมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 โดยนาย Antonio Pigafetta เป็นชาวอิตาลีที่เดินทางมายังภูมิภาคมลายูพร้อมกับนักเดินเรือชาวโปร์ตุเกสที่มีกัปตันเรือชื่อนาย Fernao de Magalhaes การเรียนการสอนในประเทศอิตาลีนั้น มีการจัดตั้งแผนกวิชามลายูศึกษาขึ้นครั้งแรกในปี 1964 โดยนักบูรพาคดีที่ชื่อว่า Prof. Allesandro Bausani ในสถาบันที่ชื่อว่า Instituto Universitario Orientale ที่เมืองนาโปลี ประเทศอิตาลี สถาบันแห่งนี้เป็นสถาบันที่สอนเกี่ยวกับภาษาต่างประเทศ สำหรับแผนกมลายู/อินโดเนเซียที่สถาบันแห่งนี้ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิภาคมลายู

มลายูศึกษาในประเทศเยอรมัน
ในประเทศเยอรมันนั้น วิชามลายูศึกษามีการเรียนการสอนบางแห่ง ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัย แต่ส่วนหนึ่งดำเนินการโดยพิพิธภัณฑ์สถาน มีการจัดตั้งแผนกวิชามลายูศึกษาขึ้นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยฮัมเบิร์ก (Hamburge University) เรียกว่าแผนกวิชาภาษาอินโดเนเซียและภาษาโอซีเนีย (Indonesian Language and Oseania Languages) นอกจากนั้นในมหาวิทยาลัยบอนน์ (Bonn University) ก็มีการเรียนการสอนภาษาอินโดเนเซีย ส่วนในมหาวิทยาลัยปาซาว (Passau University) เริ่มมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับมลายูศึกษาในต้นทศวรรษที่ 1980
การเรียนการสอนเกี่ยวกับมลายูศึกษาในปัจจุบันดำเนินการในคณะมนุษยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคโลน และที่คณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยบีเลฟิลด์ (Bielefeld University) ในมหาวิทยาลัยโคโลนมีสถาบันที่ชื่อว่า Institut fur Volkerkunde ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับชุมชนชาวเลเผ่าโอรักลาโวย ชาวเลเผ่ามอแกน และชุมชนชาวมลายู รวมทั้งชุมชนอื่นๆในภูมิภาคมลายู ส่วนมหาวิทยาลัยบีเลฟิลด์นั้น ประมาณปี 2543 ทางคณะสังคมวิทยาของมหาวิทยาลัยดังกล่าวได้ประสานงานกับแผนกวิชาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำนักศึกษาปริญญาโทของมหาวิทยาลัยบีเลฟิลด์ลงภาคสนามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 12 คน โดยนักศึกษาดังกล่าวได้ลงทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมลายูศึกษาในประเทศมาเลเซีย โดยใช้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นฐานในการศึกษาวิจัยครั้งนั้น

มลายูศึกษาในประเทศฝรั่งเศส
ในประเทศฝรั่งเศสนั้นมีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาภาษามลายูขึ้น โดยตั้งผู้อำนวยการศึกษาภาษามลายูในยุโรป ขึ้นในสถาบันที่ชื่อว่า Ecole des Languages Orientes เมื่อวันที่ 2 กันยายน ปี 1844 มีนาย Edmund Dulaurier เป็นผู้อำนวยการ โดยมีการแปลหนังสือภาษามลายูที่ชื่อว่า Kitab Pelayaran Abdullah ในปี 1850 และมีการผลิตพจนานุกรมภาษามลายู-ฝรั่งเศส แต่ไม่เสร็จสมบูรณ์
นอกจากนั้นสถาบันวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับมลายูศึกษา เช่น สถาบันที่ชื่อว่า Ecole Francais d’Extreme Orient มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชนชาวจามในกลุ่มประเทศอินโดจีน, สถาบันที่ชื่อว่า Institut National des Languaes et civilizations orientales เป็นสถานที่ศึกษาเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมตะวันออก ตั้งอยู่ในกรุงปารีส โดยสถาบันนี้เริ่มสอนภาษามลายูในปี 1841 มีการจัดตั้งฝ่ายภาษามลายูขึ้นในมหาวิทยาลัย La Havre และมหาวิทยาลัย La Rochelle โดยในมหาวิทยาลัย La Rochelle มีการจัดตั้งสถาบันโลกมลายู หรือ Maison du Monde Malais มีชื่อเป็นภาษามลายูว่า Wisma Dunia Melayu มีผู้อำนวยการชื่อ Philippe Grange’ ซึ่งมีความชำนาญเกี่ยวกับชนชาวบาจาว ทั้งในประเทศมาเลเซีย, อินโดเนเซีย และฟิลิปปินส์
มีสถาบันการศึกษาที่สอนเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมมลายูอีกหลายแห่งในประเทศฝรั่งเศส เช่น Ecole des Hautes etudes en sciences sociales (ประวัติศาสตร์และมนุษยวิทยา) ของคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยามหาวิทยาลัยปารีส และคณะมานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัย Aix-en-Provence และมีสถาบันที่ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภูมิภาคมลายูที่มีชื่อเสียงคือ Centre national de la recherché scientifique, Musee Guimet, Musee d’Histoire naturelle Musee del Homeme โดยสถาบันนี้ผลิตวารสารที่เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย มีชื่อว่า Archipel ตั้งแต่ปี 1973


มลายูศึกษาในประเทศรุสเซีย
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เริ่มมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับมลายูศึกษา โดยเริ่มการสอนเกี่ยวกับภาษามลายูที่สถาบันที่ชื่อว่า สถาบันตะวันออกกรุงมอสโก มีนาย L. Mervart เป็นผู้นำ และมีผู้ช่วยเป็นชาวอินโดเนเซียคือ นายMuso นาย Semaoen การเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมมลายูในปัจจบันดำเนินการโดย สถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมอสโก ซึ่งสถาบันตะวันออกกรุงมอสโก เข้าเป็นส่วนหนึ่งสถาบันนี้ในปี 1954 และสถาบันภาษาตะวันออก ซึ่งปัจจุบันชื่อว่า สถาบันประเทศเอเชียและอัฟริกา อยู่ภายใต้มหาวิทยาลัยมอสโก นอกจากนั้นมีการเรียนการสอนในคณะตะวันออก(Faculty of Oriental) ของมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก (University of St.Petersburg)อีกด้วย กลุ่มนักวิชาการรุสเซียที่สนใจเกี่ยวกับภูมิภาคมลายูได้จัดตั้งสมาคมขึ้นมาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 1990 เพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภูมิภาคมลายู โดยสมาคมดังกล่าวมีชื่ว่า Nusantara Society มีประธานชื่อ Dr. Boris Parnickel ซึ่งเขาเสียชีวิตในปี 2007 ขณะมีอายุได้ 69 ปี ประธานคนใหม่ชื่อ Prof. Villen Sikorsky และ รองประธานชื่อ Prof. Dr. Alexander Ogloblin จากมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก


มลายูศึกษาในประเทศอังกฤษ
ประเทศอังกฤษถือเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความสำคัญด้านมลายูศึกษา ด้วยประเทศเนเธอร์แลนด์ หรือ ฮอลันดานั้นเป็นเจ้าอาณานิคมอินโดเนเซีย ดังนั้นเอกสาร ข้อมูล วัตถุทางประวัติศาสตร์ สิ่งของสำคัญของอินโดเนเซีย ถูกนำไปเก็บรักษายังประเทศเนเธอร์แลนด์ ส่วนประเทศอังกฤษนั้นเป็นเจ้าอาณานิคมของมาเลเซีย ดังนั้นเอกสาร ข้อมูล วัตถุทางประวัติศาสตร์ สิ่งของสำคัญของประเทศมาเลเซีย บรูไน ปัตตานี ส่วนหนึ่งจึงถูกนำไปเก็บรักษาไว้ในประเทศอังกฤษ ดังนั้นเอกสาร ข้อมูล งานวิจัย งานที่เกี่ยวข้องกับมลายูศึกษาจึงถูกเก็บรักษาไว้ในประเทศทั้งสองเป็นจำนวนมาก นักวิชาการมหาวิทยาลัยมาลายาที่ชื่อ Prof. Dato’ Dr. Abu Hassan Mohd. Sham ผู้ทำศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเอกสารมลายูศึกษาที่มหาวิทยาลัยไลเด็นเป็นเวลา 1 ปี ได้กล่าวว่ามีเอกสารจำนวนมากเก็บไว้ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์
ชาวอังกฤษเริ่มศึกษาเกี่ยวกับมลายูศึกษาโดยเฉพาะเรื่องภาษามลายูมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 มีการผลิตพจนานุกรมภาษาอังกฤษ-ภาษามลายูตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เช่น Spalding (1614), Bowrey (1701), Marden (1812), Wilkinson (1901) การศึกษาเกี่ยวกับมลายูศึกษาในประเทศอังกฤษนั้น แรกเริ่มเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลมากกว่าจะเป็นของสถาบันวิชาการ นักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับมลายูศึกษา เช่น Blagden, Clifford, Crawfurd, Stamford Raffles, Gimlette, Leyden, Logan, Marden, Maxwell, Newbold, Shellabear, William Skeat, Swettenham และWinstedt การศึกษาด้านมลายูศึกษาที่เริ่มเกี่ยวข้องกับสถาบันวิชาการนั้น เมื่อมีการจัดตั้งสถาบันที่ชื่อว่า School of Oriental and African Studies อยู่ภายใต้ University of London จึงมีการศึกษาด้านมลายูศึกษาภายใต้สถาบันดังกล่าว และเอกสาร ข้อมูล งานวิจัย งานที่เกี่ยวข้องกับมลายูศึกษาจำนวนหนึ่งถูกเก็บรักษาไว้ที่ School of Oriental and African Studies นอกจากสถาบันข้างต้นแล้ว ยังมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับมลายูศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮัลล์ (University of Hull) โดยสถาบัน School of Oriental and African Studies จะเน้นด้านสังคมวิทยา ส่วนมหาวิทยาลัยฮัลล์จะเน้นด้านมานุษยวิทยา

มลายูศึกษาในประเทศญี่ปุ่น
การเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมมลายูเริ่มมีขึ้นนานแล้วในประเทศญี่ปุ่น กล่าวกันว่าภาษามลายูเริ่มมีการเรียนการสอนในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1908 ที่ Tokyo University of Foreign Studies (TUFS) อย่างไรก็ตามนักวิชาการบางคน กล่าวว่าประเทศญี่ปุ่นมีการเรียนการสอนภาษามลายูตั้งแต่ปี 1925 ที่ Tenri University
คนญี่ปุ่นเป็นคนที่ผลิตและแปลหนังสือวรรณกรรมภาษามลายูจำนวนมาก ตามรายงานการวิจัยของ Yamaguchi Masao นักวิชาการจาก Setsunan University กล่าวว่าหนังสือที่เก่าแก่ที่สุดคือ พจนานุกรมภาษามลายู-ญี่ปุ่นในปี 1908และหนังสือการฝึกพูดภาษามลายูที่ได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นในปี1910 ภายในสงครามโลกครั้งที่สอง มีงานเขียนมากกว่า 100 เล่ม ทั้งที่เป็นหนังสือไวยกรณ์ หนังสืออ่านเล่น ตำราภาษา การฝึกพูด ภาษาศาสตร์ พจนานุกรม และอื่นๆ
ในปัจจุบันมีการเรียนการสอนวิชามลายู/อินโดเนเซียศึกษาในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น Tokyo University of Foreign Studies (TUFS), Tenri University, Osaka University of Foreign Studies (OUFS), Kyoto Sanyo University (KSU) และ Setsunan University (SU)
สำหรับระดับปริญญาโทนั้นมีการเปิดสอนในมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น TUFS, Tenri University dan OUFS
ส่วนการเรียนการสอนเกี่ยวกับภาษามลายูนั้นมีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน ประมาณ 20 แห่ง

มลายูศึกษาในประเทศเกาหลี
สำหรับประเทศเกาหลีมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมมลายในหลายมหาวิทยาลัย เพราะประเทศเกาหลีก็จำเป็นต้องธุรกิจการค้ากับกลุ่มประเทศภูมิภาคมลายู ในประเทศเกาหลีได้มีการจัดตั้งสมาคมที่ศึกษาเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมมลายู มีชื่อว่า สมาคมเกาหลีเพื่อมลายูศึกษา (Korea Association of Malay Studies) มหาวิทยาลัยที่สอนเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมมลายูที่มีชื่อเสียง เช่น Hankuk University of Foreign Studies (HUFS), Pusan University of Foreign Studies(PUSF)

มลายูศึกษาในละตินอเมริกา
นอกจากประเทศที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การเรียนการสอนเกี่ยวกับมลยูศึกษายังมีอีกในหลายประเทศ เช่น ประเทศอาร์เจนตินา ในภาควิชาบูรพาศึกษา (School of Oriental Studies)ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย เดล ซัลวาดอร์ (Universidad Del Salvador) ภายใต้การนำของ ดร. อิสมาแอล ควีเลส (Dr. Ismail Quiles)

ไม่มีความคิดเห็น: