วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ประเทศมาเลเซีย

ข้อมูลทั่วไปของประเทศมาเลเซีย

ธงชาติของประเทศมาเลเซีย

แผนที่ประเทศมาเลเซีย

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร ประกอบด้วยดินแดนสองส่วน คือ มาเลเซียตะวันตก ตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายู ประกอบด้วย 11 รัฐ คือ ปะหัง สลังงอร์ เนกรีเซมบิลัน มะละกา ยะโฮร์ เประ กลันตัน ตรังกานู ปีนัง เกดะห์ และปะลิส มาเลเซียตะวันออก ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว (กาลิมันตัน) ประกอบด้วย 2 รัฐ คือ ซาบาห์ และ ซาราวัก นอกจากนี้ยังมีเขตการปกครองภายใต้สหพันธรัฐ อีก 3 เขต คือ กรุงกัวลาลัมเปอร์ (เมือหลวง) เมืองปุตราจายา (เมืองราชการ) และเกาะลาบวน

พื้นที่ 329,758 ตารางกิโลเมตร ( ประมาณ 64% ของไทย)

เมืองหลวง กรุงกัวลาลัมเปอร์

ประชากร 28.3 ล้านคน

ภาษาราชการ มาเลย์

ศาสนา อิสลาม (60%) พุทธ (19%) คริสต์ (12%)

การเมืองการปกครอง
ประมุข สมเด็จพระราชาธิบดีอัลวาทิก ตวนกู มิซาน ไซนัล อาบีดีน อิบนี อัลมาร์ฮูม สุลต่านมะห์มูด อัลมุกตาฟี บิลลาห์ ชาห์ สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 13 (His Majesty Al-Wathiqu Billah Tuanku Mizan Zainal Abidin ibni Al-Marhum Sultan Mahmud Al-Muktafi Billah Shah)

ผู้นำรัฐบาล ดาโต๊ะ ซรี มูห์ฮัมหมัด นาจิบ บิน ตุน อับดุล ราซัก (Dato’ Sri Mohd Najib bin Tun Abdul Razak)

รัฐมนตรีต่างประเทศ ดาโต๊ะ ซรี อานิฟาห์ บิน ฮัจญี อามาน (Dato’ Sri Anifah bin Haji Aman)

ระบอบการปกครอง สหพันธรัฐ โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดี (Yang di-Pertuan Agong) เป็นประมุข ซึ่งมาจากการเลือกตั้งจากเจ้าผู้ปกครองรัฐ 9 แห่ง (ยะโฮร์ ตรังกานู ปะหัง สลังงอร์ เกดะห์ กลันตัน เนกรีเซมบิลัน เประ และ ปะลิส) และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นดำรงตำแหน่ง วาระละ 5 ปี โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลสหพันธรัฐ และมุขมนตรีแห่งรัฐ (Menteri Besar ในกรณีที่มีเจ้าผู้ปกครองรัฐ หรือ Chief Minister ในกรณีที่ไม่มีเจ้าผู้ปกครองรัฐ) เป็นหัวหน้ารัฐบาลแห่งรัฐ

เขตการปกครอง มาเลเซียแบ่งเขตการปกครองเป็น 13 รัฐ ได้แก่ ยะโฮร์ ตรังกานู ปะหัง สลังงอร์ เกดะห์ กลันตัน เนกรีเซมบิลัน เประ ปะลิส มะละกา ปีนัง ซาบาห์ และซาราวัก และ 3 ดินแดนสหพันธ์ ได้แก่ กัวลาลัมเปอร์ ปุตราจายา และเกาะลาบวน

วันชาติ 31 สิงหาคม

วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 31 สิงหาคม พ.ศ. 2500


เศรษฐกิจการค้า
หน่วยเงินตรา ริงกิต (1 ริงกิตประมาณ 10.22 บาท )

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 196 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการ ปี 2552)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 6,919 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการ ปี 2552)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ลดลง ร้อยละ 2.4 (ประมาณการ ปี 2552)

สินค้านำเข้าสำคัญ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ด้านการขนส่ง ผลิตภัณฑ์โลหะ

สินค้าส่งออกสำคัญ ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันปาล์ม เคมีภัณฑ์ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) น้ำมันดิบ

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซีย
ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับมาเลเซีย

ภาพรวมความสัมพันธ์ทั่วไป

ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับมาเลเซียเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2500 และมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ คนปัจจุบันคือ นายธนะ ดวงรัตน์ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2552 นอกจากนี้ ไทยยังมี สถานกงสุลใหญ่ในมาเลเซีย 2 แห่ง ได้แก่ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง และสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู และมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำเกาะลังกาวี ซึ่งมีดาโต๊ะ ชาซรีล เอสเคย์ บิน อับดุลลาห์ เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำเกาะลังกาวี สำหรับส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ของไทย ซึ่งตั้งสำนักงานในมาเลเซียได้แก่ สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารทั้งสามเหล่าทัพ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ สำนักงานแรงงาน และสำนักงานประสานงานตำรวจ สำนักงาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัทการบินไทย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มาเลเซีย

มาเลเซียมีสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตมาเลเซียคนปัจจุบันคือ ดาโต๊ะ ฮุสนี ไซ บิน ยาโคบ (Dato'Husni Zai bin Yaacob) และมีสถานกงสุลใหญ่มาเลเซียประจำจังหวัดสงขลา

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียแบ่งออกเป็น 2 ด้านหลัก ได้แก่ (1) การดำเนินความร่วมมือภายใต้กลไกต่าง ๆ ที่มีอยู่ อาทิ คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับมาเลเซีย (Joint Commission -JC) คณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (Joint Development Strategy -JDS) คณะกรรมการด้านความมั่นคง ได้แก่ คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee : GBC) คณะกรรมการระดับสูง (High Level Committee : HLC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee : RBC) ซึ่งทั้ง 3 ระดับเป็นกรอบความร่วมมือของฝ่ายทหารเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านความมั่นคง และความร่วมมือชายแดน คณะกรรมการด้านความมั่นคงกรอบอื่น ๆ เฉพาะเรื่อง อาทิ คณะกรรมการร่วมด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ผ่านทางสมาคมไทย-มาเลเซียและสมาคมมาเลเซีย- ไทย รวมทั้ง กรอบ Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle (IMT-GT) และอาเซียน และ (2) ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วยการเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนร่วมกัน การร่วมกันพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศและการเสริมสร้างมาตรการสร้างความไว้วางใจ (Confidence Building Measures) บนพื้นฐานของกรอบ 3Es ได้แก่ การศึกษา (Education) การจ้างงาน (Employment) และการประกอบกิจการ (Entrepreneurship)

ความสัมพันธ์ด้านการเมือง

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียมีพลวัตรและได้พัฒนาจากการมีความสัมพันธ์อันดี เป็นการมีความไว้เนื้อเชื่อใจและตั้งอยู่บนผลประโยชน์ร่วมกัน โดยทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงการมี "ชะตากรรม" ร่วมกัน ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียปรับเปลี่ยนตามบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศในแต่ละยุคสมัย

กลไกความสัมพันธ์ทวิภาคีที่สำคัญ ได้แก่ (1) การประชุมหารือประจำปี ระหว่างนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย (Annual Consultation) ล่าสุดไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมหารือประจำปี ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 8 - 9 ธันวาคม 2552 (2) คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission - JC) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม มาเลเซียได้เป็นเจ้าภาพการประชุม JC ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 ที่เมืองโกตากินาบาลู รัฐซาบาห์ และ (3) คณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (Joint Development Strategy for border areas - JDS) มาเลเซียเป็นเจ้าภาพการประชุม JDS ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2552 ที่เมืองโกตากินาบาลู รัฐซาบาห์

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
การค้า

มาเลเซียเป็นคู้ค้าอันดับที่ 4 ของไทย ในขณะที่ไทยเป็นคู้ค้าอันดับที่ 5 ของมาเลเซีย ในปี 2552 การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 16,239 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งลดลงจากปี2551 ร้อยละ 17.3 ไทยส่งออกไปมาเลเซียมูลค่า 7,664 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากมาเลเซียมูลค่า 8,575.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเสียเปรียบดุลการค้า 912 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกของไทยไปมาเลเซีย ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า สินค้าที่ไทยนำเข้าจากมาเลเซียประกอบด้วย เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันดิบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ สื่อบันทึกข้อมูล ภาพและเสียง เคมีภัณฑ์แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ น้ำมันสำเร็จรูป

การลงทุน

ในปี 2552 มาเลเซียได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 25 โครงการ จาก 37 โครงการ โดยโครงการที่ยื่นขอส่วนใหญ่เป็นประเภทในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ภาคบริการ และภาคการเกษตร มูลค่า 6,389 ล้านบาท ในปี 2551 Malaysian Industrial Development Authority - MIDA อนุมัติการส่งเสริมโครงการลงทุนจากไทยในมาเลเซียจำนวน 6 โครงการ ในมูลค่า 144.6 ล้านริงกิต หรือประมาณ 1.4 พันล้านบาท

การท่องเที่ยว

ในปี 2552 มีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเดินทางมาประเทศไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง ในช่วงเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2552 มีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียมาไทย 1.52 ล้านคน ซึ่งลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 5.7 %

ในปี 2552 มีนักท่องเที่ยวไทยไปมาเลเซียมากเป็นอันดับสามรองจากนักท่องเที่ยวสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย จำนวน 1.45 ล้านคน ลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 3%

ความสัมพันธ์ด้านต่างประเทศ

การเยือนที่สำคัญ ฝ่ายไทย

พระราชวงศ์

วันที่ 20 - 27 มิถุนายน 2505
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เยือนสหพันธ์มลายาอย่างเป็นทางการ

วันที่ 25 เมษายน 2547
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนรัฐ กลันตันอย่างเป็นทางการตามคำกราบบังคมทูลเชิญของสุลต่านแห่งรัฐกลันตัน เพื่อทรงร่วมเสวยพระกระยาหารค่ำในวโรกาสที่สุลต่านแห่งรัฐกลันตันทรงครองราชย์ครบ 25 ปี

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2547
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนรัฐกลันตัน เพื่อทรงร่วมงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ในวโรกาสพิธีอภิเษกสมรสของมกุฎราชกุมารรัฐกลันตัน กับนางสาวกังสดาล พิพิธภักดี (สตรีไทยซึ่งมีภูมิลำเนาที่ จ.ปัตตานี)

วันที่ 7 - 12 กรกฎาคม 2529
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการตามคำทูลเชิญของสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 8 แห่งมาเลเซีย

วันที่ 30 สิงหาคม - 1 กันยายน 2550
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ไปทรงร่วมงานฉลองเอกราช 50 ปี ของมาเลเซีย ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 13 แห่งมาเลเซีย

วันที่ 6 -12 พฤษภาคม 2526
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมสภากาชาด-สมาชิกวงเดือนแดง กลุ่มประเทศอาเซียน ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยทรงเป็นอาคันตุกะของรัฐบาลมาเลเซีย

วันที่ 11 - 15 เมษายน 2537
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ

วันที่ 17 - 19 มีนาคม 2540
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนมาเลเซียเพื่อทอดพระเนตรโครงการเกษตรในพื้นที่สูง ที่คาเมรอนไฮแลนด์

วันที่ 8 -11 กรกฎาคม 2544
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

วันที่ 8 กันยายน 2544
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

รัฐบาล

วันที่ 18 ตุลาคม 2549
พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ

วันที่ 23 -24 เมษายน 2551
นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ

วันที่ 8 มิถุนายน 2552
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ

การเยือนที่สำคัญ ฝ่ายมาเลเซีย

พระราชวงศ์

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2507
สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินี เสด็จฯ เยือนไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

วันที่ 1 -8 กุมภาพันธ์ 2516
สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 5 และสมเด็จพระราชินี เสด็จฯ เยือนไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

วันที่ 17 - 21 ธันวาคม 2528
สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 8 และสมเด็จพระราชินี เสด็จฯ เยือนไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

วันที่ 17 - 21 ธันวาคม 2533
สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 9 และสมเด็จพระราชินี เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

วันที่ 27 - 30 มีนาคม 2543
สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 11 และสมเด็จพระราชินี เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

วันที่ 11 - 14 มิถุนายน 2549
สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 12 และสมเด็จพระราชินี เสด็จฯ เยือนไทย เพื่อทรงร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

วันที่ 9 - 12 มีนาคม 2552
สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 13 และสมเด็จพระราชินี เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

รัฐบาล

วันที่ 16 มกราคม 2547
ดาโต๊ะ ซรี อับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง

วันที่ 13 - 14 ตุลาคม 2547
ดาโต๊ะ ซรี อับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เยือนไทยเพื่อร่วมการประชุมหารือประจำปี (Annual Consultation) ครั้งที่ 2 ที่จังหวัดภูเก็ต และเป็นประธานร่วมในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ โก-ลก แห่งที่ 2 ระหว่างบ้านบูเก๊ะตา จังหวัดนราธิวาส กับบูกิตบุหงา รัฐกลันตัน

วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ 2550
ดาโต๊ะ ซรี อับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล

วันที่ 7 - 9 ธันวาคม 2552
ดาโต๊ะ ซรี มูห์ฮัมหมัด นาจิบ บิน ตุน อับดุล ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการเพื่อเข้าร่วมการประชุมหารือประจำปี (Annual Consultation) ครั้งที่ 4

ข้อมูลจาก กระทรวงต่างประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น: