วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ความรู้เบื้องต้นมลายูศึกษา

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

แผนกวิชามลายูศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในภาควิชาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อาจเป็นแผนกวิชาที่บิดเบี้ยวจากความเป็นจริงนั้นก็ด้วยก่อนการมีแผนกวิชามลายูศึกษา ทางภาควิชาภาษาตะวันออกได้มีแผนกวิชาภาษามลายูมาก่อนแล้ว เมื่อแผนกวิชามลายูศึกษาได้รับการจัดตั้ง ทางภาควิชาภาษาตะวันออกจึงแผนกวิชาที่ว่าด้วยเกี่ยวกับภาษามลายู 2 แผนกด้วยกัน คือ แผนกวิชาภาษามลายู และ แผนกวิชามลายูศึกษา แผนกวิชาภาษามลายูนั้นเป็นการศึกษาในเรื่องของภาษา ส่วนแผนกวิชามลายูศึกษาจะเป็นการศึกษาในเรื่องสังคมวัฒนธรรมมลายู (Malay Socio-Culture) สำหรับในประเทศมาเลเซียนั้น เช่น สถาบันอารยธรรมและโลกมลายู มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Institut Alam dan Tamadun Melayu, Universiti Kebangsaan Malaysia) ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเมื่อปี 1993 จากชื่อเดิมว่าสถาบันภาษา, วรรณกรรมและวัฒนธรรมมลายู หรือ Institut Bahasa, kesusasteraan dan kebudayaan Melayu จะเห็นได้ว่าสถาบันดังกล่าวได้แบ่งวิชามลายูศึกษาออกเป็น 3 ส่วน นั้นคือ ภาษามลายู, วรรณกรรมมลายู และวัฒนธรรมมลายู ส่วนสถาบันมลายูศึกษา มาหวิทยาลัยมาลายา (Akademi Pengajian Melayu, Universiti Malaya) นั้นได้ แบ่งวิชามลายูศึกษาออกเป็น 4 ส่วน คือ ภาษามลายู, ภาษาศาสตร์มลายู, วรรณกรรมมลายู และ สังคมวัฒนธรรมมลายู
สำหรับภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อกล่าวถึงแผนกวิชาภาษามลายู ก็หมายถึงการศึกษาเกี่ยวกับภาษามลายู และ วรรณกรรมมลายู ส่วนแผนกวิชามลายูศึกษาก็จะหมายถึงการศึกษาเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรมมลายู ในปี 2551 ทั้งสองแผนกวิชาได้มีการรวมตัวกันเป็นแผนกวิชาภาษามลายูและมลายูศึกษา ถึงอย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็ยังคงแตกต่างไปจากประเทศมาเลเซีย

ความสัมพันธ์ระหว่างมลายูศึกษา, อิสลามศึกษา และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา

วิชามลายูศึกษาคือวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับภาษา วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง กฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม ของชาติพันธุ์มลายูกว่า 340 ล้านคน ที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ทั้งในทวีปเอเชีย, ทวีปอัฟริกา, ทวีปอเมริกาใต้ และอื่นๆ เช่น ในประเทศมาเลเซีย, อินโดเนเซีย, บรูไน, สิงคโปร์, ตีมอร์เลสเต้, ฟิลิปปินส์, สุรีนาม, อัฟริกาใต้, ศรีลังกา, เกาะโคโคส และออสเตรเลียตะวันตก, มาดากัสการ์, ตะวันออกกลาง, ยุโรป และ สหรัฐ เป็นต้น วิชามลายูศึกษานั้นเป็นวิชาที่มีความสัมพันธ์กับวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และ วิชาอิสลามศึกษา จากวงกลมข้างต้นจะเห็นว่า วงกลมทั้งสาม ซึ่งประกอบด้วย วงกลมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา, วงกลมอิสลามศึกษา และ วงกลมมลายูศึกษา จะมีพื้นที่ทับซ้อนกัน พื้นที่ดังกล่าวถือเป็นพื้นที่ที่วิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา วิชาอิสลามศึกษา และวิชามลายูศึกษามีความสัมพันธ์ต่อกัน พื้นที่ที่ทับซ้อนกันนั้นส่วนใหญ่จะเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม ด้วยชนชาวมลายูที่เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นนับถือศาสนาอิสลาม

ความสัมพันธ์ของวิชามลายูศึกษา วิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และวิชาอิสลามศึกษา
ความสัมพันธ์ของวิชามลายูศึกษากับวิชาอิสลามศึกษานั้น ก็ด้วยชนชาวมลายูส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้นการศึกษาค้นคว้า องค์ความรู้ของชนชาวมลายูในส่วนนี้ จึงจำเป็นต้องมีวิชาอิสลามศึกษาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ส่วนที่การศึกษาค้นคว้าองค์ความรู้ของชนชาวมลายูที่ไม่เกี่ยวข้องกับวิชาอิสลามศึกษานั้น จะเป็นในส่วนของการศึกษาเกี่ยวกับชาวบาหลี ที่เกาะบาหลี อินโดเนเซีย ซึ่งนับถือศาสนาฮินดู ชาวชวาบางส่วน ชาวบาตัก และชนเผ่าอื่นๆที่บางส่วนไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม รวมทั้งการศึกษาที่เกี่ยวกับชาวมลายู-เมริน่า (Merina)ที่ประเทศมาดากัสการ์ ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์

สำหรับความสัมพันธ์ของวิชามลายูศึกษากับวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ด้วยชนชาวมลายูส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่วิชามลายูศึกษาเรียกว่าภูมิภาคมลายู (Nusantara) ดังนั้นการจะศึกษา ค้นคว้าองค์ความรู้ของชนชาวมลายูในส่วนนี้ จึงจำเป็นต้องสัมพันธ์กับวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ส่วนการศึกษาค้นคว้า องค์ความรู้ของชนชาวมลายูที่ไม่สัมพันธ์กับวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษานั้น จะเป็นการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับชนชาวมลายูที่อยู่นอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั้นคือ ชนชาวมลายูที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศศรีลังกา, มาดากัสการ์, อัฟริกา, สุรีนาม, ตะวันออกกลาง, ยุโรป และ สหรัฐอเมริกา

ความสัมพันธ์วิชามลายูศึกษากับวิชามานุษยวิทยาและสังคมวิทยา
วิชามลายูศึกษาเกิดขึ้นมานานแล้ว วิชามลายูศึกษาเริ่มมีขึ้นครั้งแรกในทวีปยุโรปที่มหาวิทยาลัยไลเด็น (Leiden University) ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี 1876 ต่อมาวิชามลายูศึกษาจึงได้แพร่หลายยังมหาวิทยาลัยต่างๆทั้งในทวีปยุโรปและสหรัฐ เรามาดูถึงความสัมพันธ์ของวิชามลายูศึกษากับวิชามนุษยวิทยาและสังคมวิทยา ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นต้นแบบของแผนกวิชามลายูศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สำหรับภาควิชามลายูศึกษาได้รับการจัดตั้งขึ้นในมหาวิทยาลัยมาลายา (ขณะนั้นตั้งอยู่ที่สิงคโปร์) เมื่อปี 1953 เป็นผลจากการเสนอรายงานของ Carr-Saunders เมื่อมีการจัดตั้งวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยมาลายาที่กัวลาลัมเปอร์ เมื่อปี 1959 ทางภาควิชามลายูศึกษากลายเป็นภาควิชาที่ใหญ่ที่สุดของคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมาลายาในขณะนั้น


แรกเริ่มภาควิชามลายูศึกษาได้ทำการเปิดสอนในวิชาที่ค่อนข้างเสรี นั้นคือการนำความหลากหลายของวิชามารวมในวิชาเกี่ยวกับมลายูศึกษา ดังนั้นนักศึกษาวิชามลายูศึกษาจึงสามารถทำการวิจัย ค้นคว้าในระดับที่สูงขึ้น โดยใช้หลักวิชามานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ต่อมากลางทศวรรษที่ 1960 ภาควิชามลายูศึกษาได้ปรับโครงสร้างใหม่ โดยแยกออกมาเป็น 3 แผนกวิชา คือ แผนกวิชาภาษาศาสตร์, แผนกวิชาวรรณกรรม และ แผนกวิชามนุษยวิทยาและสังคมวิทยา และหลังจากนั้นการพัฒนาการของภาควิชามลายูศึกษาจึงมีมากขึ้น
ในทศวรรษที่ 1960 ได้มีการเรียกร้องให้มีการผลิตบุคคลที่เรียกว่า “Manusia Perkasa” ขึ้นในประเทศมาเลเซีย Manusia Perkasa คือมนุษย์ที่สามารถต่อสู้กับความเป็นจริงของสังคมที่มีความหลากหลายรูปแบบ ความคิดนี้ นายตักดีร์ อาลีชาห์บานา (Takdir Alisjahbana) เป็นผู้จุดประกาย ขณะนั้นเขาเป็นศาสตราจารย์และสอนด้านปรัชญาสังคมที่มหาวิทยาลัยมาลายา เขาเป็นชาวอินโดเนเซีย ต่อมาภายหลังเขาได้ตั้งมหาวิทยาลัยเอกชนขึ้น ใช้ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยแห่งชาติ – Universitas Nasional” มหาวิทยาลัยนี้ตั้งในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดเนเซีย ความคิดในการผลิต “Manusia Perkasa” นั้นมีอิทธิพลไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมต่อนักศึกษาของเขา และมีนักวิชาการอื่นๆเข้ามามีส่วนร่วมในการเสวนาวิชาการในเรื่องการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของสังคมในมุมมองของวิชามนุษยวิทยาและสังคมวิทยา นักวิชาการเหล่านั้น เช่น สัยยิด ฮุสเซ็น อัลอัตตัส (Syed Hussein Al-Attas), สัยยิด ฮุเซ็น อาลี (Syed Husin Ali), อิสกันดาร์ การีย์ (Iskandar Carey), อับดุลกาฮาร์ บาโดร์ (Abdul Kahar Bador) และม๊อคซานี อับดุลราฮิม (Mokhzani Abdul Rahim) กิจกรรมของพวกเขาทำให้แผนกวิชาสังคมวัฒนธรรมของภาควิชามลายูศึกษา มหาวิทยาลัยมาลายา มีชื่อเสียง และได้รับความสนใจจากนักศึกษาทั่วไป


สำหรับแผนกวิชามานุษยวิทยาและสังคมวิทยามลายูของภาควิชามลายูศึกษา มหาวิทยาลัยมาลายา นั้น รู้จักกันในนามของแผนกวิชาสังคมวัฒนธรรม (Socio-Culture Department) หรือในภาษามลายูเรียกว่า Jabatan Sosio-Budaya ทางแผนกวิชาสังคมวัฒนธรรมมลายูของภาควิชามลายูศึกษา มหาวิทยาลัยมาลายาถือเป็นผู้ก่อตั้งวิชามานุษยวิทยาและสังคมวิทยาในประเทศมาเสเซีย ภาควิชามานุษยวิทยาและสังคมวิทยาของมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 1970 นั้นคณาจารย์ล้วนจบจากแผนกวิชาสังคมวัฒนธรรมมลายู ของมหาวิทยาลัยมาลายา ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่ภาควิชามานุษยวิทยาและสังคมวิทยาที่จัดตั้งขึ้นในมหาวิทยาลัยมาลายา เมื่อปี 1971-72 ส่วนใหญ่ของอาจารย์ก็จบจากแผนกวิชาสังคมวัฒนธรรมมลายูของมหาวิทยาลัยมาลายา ในชั้นต้นนั้นการเกิดขึ้นของภาควิชามนุษยวิทยาและสังคมวิทยามีการทับซ้อนกันในเรื่ององค์ความรู้ เพราะล้วนมีรากฐานมาจากชำนาญในเรื่องของสังคมมลายู
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจะเห็นถึงความสัมพันธ์ของวิชามลายูศึกษากับวิชามานุษยวิทยาและสังคมวิทยา วิชามลายูศึกษาต้องใช้หลักการวิจัยของวิชามานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ในการวิจัย ค้นคว้าองค์ความรู้เกี่ยวกับสังคมมลายู ซึ่งอาจกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าวิชามลายูศึกษาเป็นวิชามานุษยวิทยาและสังคมที่ศึกษา วิจัย ค้นคว้า เกี่ยวกับสังคมมลายูก็คงจะได้

ไม่มีความคิดเห็น: